บขส.จำเลยที่ 3 วางเงินกว่า 15 ล้านบาท ชดใช้ให้ครอบครัวผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรี 11 ชีวิต ถือเป็นผลสำเร็จที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินการ รวมถึงเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดี
วันนี้ 31 มีนาคม 2566 นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อวัน 14 มีนาคม 2566 บริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 3 ได้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อ ครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยได้นำเงิน จำนวน 15,191,712.31 บาท ( สิบห้าล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยสิบสองบาทสามสิบเอ็ดสตางค์ ) มาวางต่อ ศาลจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะถูกนำมาแบ่งให้กับครอบครัวของผู้เสียหายทั้ง 11 ราย นำโดย นายเหียน หมดภัย ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ตามที่ศาลฏีกาพิพากษา ให้ จำเลยทั้ง 3 ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต จำเลยที่ 1 , นางสาว วาสนา จันทร์เอี่ยม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคิวรถตู้คันเกิดเหตุ , และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 “ร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต”
ความสำเร็จนี้ มาจากการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินการช่วยเหลือฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค ทั้ง 11 ราย จนชนะในชั้นศาลฏีกา พร้อมทำหนังสือ ลงวันที่ 25 มกราคม 2566 ส่งถึง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ขอให้ดำเนินการ ชำระเงิน แก่โจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566
ครอบครัว “รื่นเริง “ คุณพ่อชัยชาญ และ คุณแม่ปราณี แม้ยังทำใจไม่ได้ที่ต้องสูญเสียลูกสาวคนโตในวัย 42 ปี ที่ตอนนั้น มีอาชีพการงานมั่นคง ถือเป็นเสาหลักของครอบครัว , และ ครอบครัว “ ไทยตรง “ เป็นอีก 1 ผู้สูญเสีย คุณพ่อเกษมสันต์ – คุณแม่ เกษรา ผู้ต้องสูญเสียลูกชายเพียงคนเดียว ในวัยอายุ 23 ปี ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว ตอนนั้น ทำงานธนาคารขนาดใหญ่ ที่กรุงเทพ ฯ อนาคตไกล แต่ชีวิตต้องมาดับสูญเพราะรถตู้มรณะคันนั้น , โดยทั้ง 2 ครอบครัว ได้เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณ ต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ให้ความช่วยเหลือ ดูแลฟรีหมดทุกอย่าง ในการร่วมเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จนชนะคดี ต้องขอบคุณอย่างมาก จากใจจริง ที่ทำให้ฮึดสู้ และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอยเดิม ปัญหาคือ บขส. เอารถตู้ มาอยู่ในการควบคุม แต่กลับดูแลไม่ทั่วถึง กฎหมายไม่เข้มแข็ง จึงทำให้เกิดเรื่อง แบบนี้
ย้อนเหตุการณ์ การฟ้องคดีนี้ มาจาก อุบัติเหตุ รถตู้โดยสาร สาย จันทบุรี – กรุงเทพ พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา บริเวณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ทำให้ผู้โดยสารบนรถตู้ 14 คน และ ผู้ที่โดยสาร มากับ รถกระบะ 11 คน ถูกไฟคลอกรวมทั้งหมด 25 ราย เหตุเกิด เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560
จากเหตุการณ์ข้างต้น แม้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย แต่มีครอบครัวของผู้เสียหายเพียง 11 ราย นำโดย นายเหียน หมดภัย กับ พวก ได้มาร้องขอให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต จำเลยที่ 1 , นางสาว วาสนา จันทร์เอี่ยม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคิวรถตู้คันเกิดเหตุ , และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 , รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อ ครอบครัวผู้เสียชีวิต
คดีนี้ต่อสู้กันถึง 3 ศาล ใช้เวลายาวนานถึง 5 ปี ในที่สุด วันที่ 10 มกราคม 2566 ศาลฎีกา มีคำพิพากษา ยืนตาม ศาลจังหวัดจันทบุรี และ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภค โดยกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ ให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้ง 11 ราย โดยจ่ายชดเชยครอบครัวละ 3 แสนบาท นอกจากนี้ ยังต้องจ่าย ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าทรัพย์สินเสียหายสูญหาย รวมทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 นับแต่วันทำละเมิด 2 มกราคม 2560 ที่จำเลยต้องจ่ายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ยื่นฟ้อง
จากคำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่า ในวันเกิดเหตุ นายสุมน เอี่ยมสมบัติ อายุ 64 ปีขับรถตู้โดยสารมาแล้วถึง 4 เที่ยว ภายในระยะเวลา 31 ชั่วโมง เมื่อไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จนเกิดหลับใน รถพุ่งตกร่องกลางถนน ข้ามไปยังถนนอีกฟากหนึ่ง แล้วชนกับรถกระบะที่ขับผ่านมา
ทั้งนี้การที่ ศาลฏีกา ได้พิพากษาลดหย่อนค่าเสียหายเชิงลงโทษ กับจำเลยจากที่ต้องจ่ายผู้เสียชีวิตครอบครัวละ 500, 000 บาท เป็น 300,000 บาท เนื่องจากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภค
ในการฟ้องคดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องโดยใช้ กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งไม่เสีย ค่าฤชาธรรมเนียม พร้อมทั้งยังร่วมมือกับ เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออก ลงพื้นที่รวบรวมข้อเท็จจริงและสรุปประเด็นความเสียหายให้กับญาติผู้เสียชีวิต และยังพบข้อมูลสำคัญ คิวรถตู้โดยสารคันเกิดเหตุ เปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคล จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด พลอยหยก เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต ซึ่งอาจเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้เสียหาย
นายธนัช ธรรมิสกุล มองว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหามาตรฐานความปลอดภัยรถตู้โดยสาร ,ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ , และ การชดเชยเยียวยาที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย , โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การให้สัมปทานจากกรมการขนส่งทางบก สังกัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้ให้สัมปทานเดินรถ มีหน้าที่กำกับดูแลรถร่วมบริการ แต่กลับปล่อยให้คิวรถใช้งานคนขับเกินกำลังจนร่างกายอ่อนล้า กระทั่งก่ออุบัติเหตุ ต้องรับผิดชอบจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อไม่ต้องรอกระบวนการบังคับคดีสืบทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันให้เกิด “กองทุนช่วยเหลือผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน” ต้องได้รับเงินเยียวยาทันที ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
นายธนัช ยังฝากไปถึงผู้บริโภค หากสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่เป็นการขนส่งสาธารณะ สามารถ มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยฟ้องคดีได้ เพราะว่า การที่ ซื้อตั๋วโดยสาร นั่นหมายถึง การซื้อสินค้าและบริการ ถือเป็นผู้บริโภค ที่ถูกละเมิดสิทธิ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภค ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ 02 248 3737 หรือ Line ID : @Consumerthai