เหตุนี้! มีเรื่อง “ฉีดฟิลเลอร์” อยากได้สวยแต่ซวยมาแทน?

 

ยุคนี้การทำสวยมีหลายรูปแบบ ชอบแบบไหน ทำแบบไหน ถ้าไม่กลัวเจ็บ เสพติดการผ่าตัดก็จัดไปเลย “ ศัลยกรรม “จะเลือกเฉพาะจุด หรือ ทั้งตัว ก็ขึ้นกับเงินในกระเป๋า

แต่ถ้าหากทนเจ็บได้แค่จี๊ดๆ ต้องนี่เลย ฉีดฟิลเลอร์ ผู้อยากสวย อยากดูดี แบบด่วนๆ ทั้งหญิงและชาย มักชอบวิธี ฉีด “ฟิลเลอร์ (Filler) เพื่อให้ไปช่วยเติมเต็มผิวที่มีริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่างๆ ของใบหน้า ให้กลับมาดูอ่อนเยาว์ กระชับ เปล่งปลั่ง

แต่ที่ฮิตและนิยมกันมาก คือ การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อและคอลลาเจนใต้ตาที่สลายไป ทำให้ร่องลึกใต้ตาดูตื้นขึ้น เติมเต็มผิวหนังที่ยุบตัวให้กลับมาเต่งตึงอีกครั้ง นอกจากนี้การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตายังช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ได้อีก เช่น ใต้ตาคล้ำ ขอบตาดำ ที่อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ โรคภูมิแพ้ที่ใต้ตาทำให้เส้นเลือดใต้ตาขยาย และอายุที่มากขึ้น

ที่เกริ่นมาทั้งหมด เพื่ออยากจะโยงให้เห็นว่า ถ้าทำแล้วดี ก็ดีไป แต่ถ้าทำแล้วเกิดปัญหาตามมานี่สิ จาก อยากได้ความสวยแต่ความซวยกลับมาแทน แล้วจะทำยังไงดีล่ะทีนี้! ยิ่งถ้าทำจากคลินิกชื่อดังราคาแพงยิ่งสุดแสนชอกช้ำใจ

มีเคสที่เจอปัญหาแบบนี้มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่า ได้ไปใช้บริการฉีดฟิลเลอร์ บริเวณใต้ตา คลินิกชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่ผ่านมา 13 วัน เกิดอาการอักเสบ ผิวหนังย้อยลงมาถึงใบหน้าและแก้มทั้ง 2 ข้างเจอแบบนี้เกิดอาการร้อนใจเหมือนไฟสุมทรวง ต้องไปถามหมอให้รู้เรื่อง … เมื่อเจอหน้ากัน หมอตรวจสอบเหตุยืนยันไม่ได้เกิดจากฟิลเลอร์แน่นอน สันนิษฐานอาจเป็นก้อนไขมันหรือพังผืด ผู้เสียหายบอกว่า เจออาการแบบนี้จึงกลับไปหาคลินิกเดิมรอบ 2 ขอให้หมอฉีดสลายฟิลเลอร์ พอทำเสร็จคิดว่าจะดีขึ้น แต่เปล่าเลย! หลังจากรอดูอาการ 14 วัน ตามที่แจ้งไว้ ใบหน้ากลับบวมมากกว่าเดิม ตอนนั้น จึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัด แล้วก็เป็นจริงดังคาดฟิลเลอร์ เป็นตัวการที่ทำให้หน้าอักเสบบวมแดง เมื่อได้ข้อมูลยืนยัน ผู้เสียหายจึงเอาหลักฐานมายื่นต่อคลินิกที่ฉีดฟิลเลอร์ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น แต่อีกฝ่ายกลับปฏิเสธความรับผิดชอบทุกกรณี

เมื่อดูท่าจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบผู้เสียหาย จึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังจากรับฟังเหตุการณ์ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ จึงแนะนำให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือเอกสารทั้งหมดที่ใช้บริการกับคลินิกที่เกิดปัญหาต้องรวบรวมมาให้หมด เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ย หรือถึงขั้นขึ้นศาลฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

กระบวนการต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือผู้ร้องรายนี้ นั่นคือ การทำหนังสือเชิญไปถึงผู้บริหารคลินิกให้มาเจรจา ไกล่เกลี่ยกลับผู้เสียหาย ทว่าแต่ไม่มีการตอบกลับมา ทั้ง 2 ครั้ง ทางผู้ร้องจึงตัดสินใจจะดำเนินการฟ้องศาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิจึงแนะนำ 2 ช่องทาง โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค หรือ ผู้ร้องเดินเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลแผนกคดีผู้บริโภค ไม่มีค่าใช้จ่าย ในกระบวนการฟ้องร้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมช่วยเหลือด้านการเตรียมเอกสาร สรุปว่า ผู้ร้องเลือกแนวทางยื่นฟ้องเอง พร้อมขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สำหรับเหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดของผู้สียหายรายนี้ เกิดขึ้นกลางปี 2565 จนล่าสุดมิถุนายน 2566 ผู้ร้องแจ้งว่า หลังจากยื่นฟ้องคลินิก เป็นคดีผู้บริโภค ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาล หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ยังมีอีกเคส ที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หญิงสาวที่เป็นผู้เสียหาย เล่าว่า ได้ไปใช้บริการคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง โดยตกลงซื้อคอร์ส ราคา 51,280 บาท เป็นค่าฉีดฟิลเลอร์, โบท็อกซ์และเลเซอร์ ปัญหาเริ่มขึ้น เมื่อฉีดฟิลเลอร์บริเวณใต้ตาเป็นบริการแรก ผ่านไป 1 อาทิตย์ปรากฏว่า เกิดอาการบวม เมื่อกลับไปคลินิกให้จัดการแก้ไข อีกฝ่ายกลับบอกให้คนไข้ไปหาหมอที่อื่นตรวจอาการก่อน แล้วค่อยกลับมาหาที่คลินิก เพื่อดูว่าจะต้องแก้ตรงไหนหรือชดเชยยังไง**

เบื้องต้น ฝ่ายกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำขั้นตอนดำเนินการเหมือนเคสแรก ที่สำคัญต้องเห็นสัญญาการให้บริการ แต่ประเด็นคลินิกให้คนไข้ไปหาหมอที่อื่นตรวจอาการก่อน แล้วค่อยกลับมาหาที่คลินิก เพื่อดูว่าจะต้องแก้ตรงไหนหรือชดเชยยังไง ซึ่งผู้เสียหายอาจมองว่า เมื่อคลินิกที่ก่อความเสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบแก้ไขให้ลูกค้าที่จ่ายค่าคอร์สไปแล้ว แต่หากมองในมุมที่ให้ “คนกลาง “เป็นผู้ประเมินอาการ ทำให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ครอบคลุมและเป็นธรรมที่สุด ดีกกว่าการให้คลินิกที่สร้างผลกระทบต่อลูกค้าเป็นฝ่ายประเมินความเสีขณะนี้ ซึ่งลูกค้า ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายรายนี้ ยังขอตัดสินใจจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล หากยังไม่ได้รับการเยียวยา เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่หายบาดเจ็บจากการฉีดฟิลเลอร์** เคสนี้ต้องรอความคืบหน้า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

หากผู้บริโภคเจอปัญหาลักษณะนี้ สามารถดูแนวทางการขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สามารถอ่านเพิ่มเติม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ( สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. )

https://www.facebook.com/ocpb.official/posts/pfbid0MUPFd97LCFjbfLtVDgy3tXqchykqYGSgSRwYdURHWMa1X2X8yaraRF3Y8c87F9Hgl

• สคบ. แจ้งผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเสริมความงาม หลักฐานการรับเงินต้องแสดงรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด

• ด้วยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจ ที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน หากผู้บริโภคไปใช้บริการธุรกิจดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจต้องออกหลักฐานการรับเงินที่มีสาระสำคัญ เงื่อนไขตามที่ประกาศกำหนด และประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ในวันที่ 12 กันยายน 2563

• ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจ ที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563

• โดย “ธุรกิจการให้บริการเสริมความงาม” หมายความว่า การประกอบธุรกิจการให้บริการเสริมความงามโดยมีข้อตกลงให้ผู้บริโภคเข้ารับบริการได้ต่อเนื่องตามจำนวนครั้งหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการให้บริการดังกล่าว กระทำด้วยวิถีการนวด การสปา หรือการกระทำด้วยวิธีการอื่นใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือการปกป้องดูแลผิวหน้า ผิวกายและผิวพรรณ ตลอดจนการควบคุมการลดน้ำหนักและการดูแลสัดส่วนของร่างกาย

• แต่ไม่รวมถึง การทำศัลยกรรม การดูดไขมัน การฟื้นฟูสุขภาพ และการบำบัดรักษาโรคหรือควมเจ็บป่วยที่กระทำโดยผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยหลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้กับผู้บริโภคต้องมีข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน ระบุสาระสำคัญ เงื่อนไข รายละเอียดที่เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภค การให้บริการเสริมความงาม เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเริ่มต้น วันสิ้นสุด จำนวนเงินค่าบริการ

• สิทธิและเงื่อนไขการได้รับเงินค่าบริการคืนของผู้บริโภค เช่น กรณีที่ผู้บริโภคยังไม่ได้ใช้บริการในระยะเวลาเจ็ดวัน นับจากวันที่ได้ชำระเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ คืนเงินเต็มจำนวน หรือกรณีผู้ประกอบธุรกิจปิดกิจการ ปิดปรับปรุง ย้ายสถานที่ให้บริการ ซึ่งผู้บริโภคไม่อาจใช้บริการแห่งอื่นหรือสาขาอื่นได้โดยสะดวก ฯลฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินตามสัดส่วนที่ยังไม่ได้ให้บริการ และสาระสำคัญอื่นๆ ให้ครบถ้วนในหลักฐานการรับเงิน ตามที่ประกาศกำหนด แต่ห้ามใส่ข้อความที่มีลักษณะหรือความหมายในทำนอง ยกเว้น หรือ จำกัด ความรับผิดจากการกระทำละเมิดสิทธิต่อผู้บริโภคของผู้ประกอบธุรกิจ

• สำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่ไม่ส่งมอบหลักฐานการรับเงินที่มีรายละเอียด และข้อความถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดให้แก่ผู้บริโภค ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน