สภาผู้บริโภค จับมือ ดีเอสไอ แก้ไข – ป้องปรามปัญหาผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค หารือ ดีเอสไอ ร่วมหาแนวทางแก้ไข – ป้องปรามปัญหาผู้บริโภค

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค และโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เข้าประชุมร่วมกับ พ.ต.ต. สุริยา สิงกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภคจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและบทบาทหน้าที่ระหว่างสภาผู้บริโภคกับดีเอสไอ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาและความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันมีปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย ทั้งยังมีลักษณะปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เช่น กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาการส่งลิงก์ปลอมดูดเงินและขโมยข้อมูล เป็นต้น ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สภาผู้บริโภคได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ  เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค รวมไปถึงการรับเรื่องร้องเรียน ช่วยเหลือ คุ้มครอง เยียวยา และปกป้องสิทธิของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม มองว่าหากมีความร่วมมือกับดีเอสไอและสามารถป้องปรามปัญหาก่อนเกิดเหตุ ก็จะช่วยลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะถูกเอารัดเอาเปรียบลงได้

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินคดีกับดีเอสไออยู่เป็นระยะ ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญที่อยากขอความร่วมมือจากดีเอสไอ  คือ ประเด็นการปล่อยกู้บ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ของกลุ่มบริษัท ศรีสวัสดิ์ ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดกฎหมาย 8 ข้อ ได้แก่ 1) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 2) ไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับให้ผู้บริโภค

3) โฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียมแต่สุดท้ายเรียกเก็บ 4) ขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยพ่วง โดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ 5) จ่ายเงินไม่ครบตามสัญญา 6) พนักงาน (บางสาขา) ไม่มีใบอนุญาตขายประกันภัย 7) จำกัดการชำระเงินต้นและกำหนดชำระภายใน 12 เดือน และ 8) ผู้กู้บางรายชำระหนี้ได้ครบ แต่บริษัทฯ ไม่คืนโฉนด และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม

โสภณกล่าวอีกว่า นอกจากประเด็นเรื่องการปล่อยกู้บ้านและที่ดินไม่จดจำนองที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แล้ว ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น การหลอกลวงส่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง กรณีคลินิกเสริมความงามปิดกิจการโดยไม่แจ้งผู้บริโภคล่วงหน้า หรือกรณีหลอกลงทุนออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคในการติดตามเงิน รวมถึงการฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อให้เกิดการชดเชยเยียวยาแก่ผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้กระทำผิดในลักษณะเดิม และมีผู้บริโภคถูกหลอกอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นหากสามารถประสานความร่วมมือกับดีเอสไอและลงโทษผู้กระทำผิดในเชิงคดีอาญาได้ก็น่าจะทำให้เกิดการป้องปรามการกระทำผิดและช่วยให้การหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงด้วย

สำหรับเรื่องการประสานความร่วมมือระหว่างสภาผู้บริโภคกับดีเอสไอนั้น โสภณระบุว่า มีประเด็นที่อยากขอความร่วมมือเพื่อประสานงานอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การดำเนินคดีคุ้มครองผู้บริโภค 2) ความร่วมมือการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลความรู้ เตือนภัยแก่ผู้บริโภค

3) การสนับสนุนข้อมูลเรื่องร้องเรียน ข้อมูลวิชาการ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีพิเศษ และพัฒนานโยบายคุ้มครองผู้บริโภค และ 4) การสนับสนุนวิทยากรเพื่ออบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานขององค์กร โดยอยากให้เป็นไปในรูปแบบของการลงนามในหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

ทางด้าน พ.ต.ต. สุริยา สิงกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า พฤติการณ์เข้าข่ายผิดกฎหมายของบริษัทศรีสวัสดิ์นั้น กรณีการเรียกดอกเบี้ยเกินกำหนด ศรีสวัสดิ์เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ธุรกิจที่ทำไม่ใช่การให้สินเชื่อแบบปกติ จึงไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง แต่หากมีพฤติกรรมที่ทำเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนกรณีสัญญาไม่เป็นธรรมและการจ่ายเงินไม่เต็มจำนวน ต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

ส่วนปัญหาเรื่องอื่น ๆ พ.ต.ต. สุริยา กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดว่ามีมูลค่าความเสียหายที่เข้าข่ายคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งโดยหลักการแล้ว หากเป็นคดีที่มีผู้กระทำความผิดรายเดียวและมีผู้เสียหายหลายสิบหรือหลักร้อยคน ก็จะเข้าข่ายคดีพิเศษ ทั้งนี้จะมีรายละเอียดเงื่อนไขว่ากรณีใดต้องมีผู้เสียหายจำนวนเท่าใดจึงจะเข้าข่ายคดีพิเศษ

ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการลงนามในหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน จะได้เป็นแนวทางความร่วมมือที่ชัดเจน นอกจากนี้มองว่าภาพความร่วมมือที่สามารถทำได้เลยคือลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อป้องปรามปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“หากสภาผู้บริโภคมีประเด็นเรื่องร้องเรียนก็สามารถส่งข้อมูลมายังดีเอสไอได้เลย เพราะบางเรื่องอาจจะเข้าข่ายความผิดอื่น เช่น เข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งเป็นขอบเขตที่ดีเอสไอสามารถดำเนินการได้ หรือหากเป็นเรื่องที่ไม่เข้าข่ายคดีพิเศษ ก็สามารถให้คำแนะนำ และทำงานสอดประสานกันไปได้” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ

 

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน