สสส.-ศวปถ. ร่วมหนุนเสริมมาตรการลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ พฤติกรรมการดื่มแล้วขับสูงถึง 31% ส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมควบคุม ‘ดื่มแล้วขับ’ หากพบขายเหล้าให้เยาวชนมีความผิดร่วมด้วย ตั้งเป้าปี 70 ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่อุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงเวลาปกติ ข้อมูลศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2564 ตรวจพบมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 มากถึง 17%
โดยในปี 2564 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 5,387 ราย มากกว่าปี 2563 ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 4,415 ราย ขณะที่ ข้อมูลระหว่างปี 2550-2564 พบคนไทยมีพฤติกรรมดื่มประจำถึง 44% ในจำนวนนี้ กว่า 1 ใน 3 หรือ 36% ดื่มหนัก และมีพฤติกรรมการดื่มแล้วขับสูงถึง 31% อายุเฉลี่ยดื่มครั้งแรก 20 ปี ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สินและมูลค่าทางจิตใจของผู้เสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเลขได้
“ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุ สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครจราจรช่วยชุมชนช่วยสกัดไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ลดการใช้ความเร็ว การสวมหมวกนิรภัย สกัดคนเมา และขอเตือนสติด้วยแคมเปญ “รับไหวเหรอ ?” คำพูดติดปากว่า “ขับไหว” หลังดื่มแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย ซึ่งในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. มีเป้าหมายที่มุ่งสนับสนุนการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน มีจุดเน้นสำคัญ คือ
1) การทำให้พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญลดลงและเพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย
2) การสร้างสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
โดยโฟกัสที่กลุ่มเสี่ยงหลัก คือ กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ กลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน โดยเลือกทำงานในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อจะช่วยสนับสนุนการทำงานภาพใหญ่ของประเทศให้สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงได้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสวนดุสิตโพล พบว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการสังสรรค์ในครัวเรือนและมีการสัญจรในชุมชนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ดื่มแล้วขับส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและจุดเกิดเหตุอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรใกล้บ้าน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน เพิ่มมาตรการและหนุนเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมการจัดการปัญหา อาทิ ตั้งด่านชุมชน ตรวจเชิงรุกพื้นที่ที่มีกิจกรรมดื่มสังสรรค์ ตลอดจน ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งเสริมการกวดขันวินัยจราจร เฝ้าระวังการดื่มไม่ขับ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี
ทั้งนี้ หากมีการบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ จะมีการสอบสวนเพื่อกำกับติดตามดำเนินคดีไปยังร้านหรือแหล่งจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มมาตรการกำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งให้หลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อลดความแออัดและลดอุบัติเหตุในการเดินทาง และขอฝากเรื่องการเตรียมความพร้อมร่างกาย ระวังเรื่องง่วง-หลับใน ไม่ขับเร็วขับ เว้นระยะห่างคันหน้า คาดเข็มขัด สวมหมวกนิรภัย เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนน