สิทธิผู้บริโภคไทย 5 ประการ
ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้
1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง และเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐาน เหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดเชยค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3, และ 4 ดังกล่าว
สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ
1) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety)
2) สิทธิที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการเลือกและตัดสินใจ (The right to be informed)
3) สิทธิที่จะได้เลือกซื้อหาสินค้าและบริการจากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการมากกว่า 1 ราย (The right to choose)
4) สิทธิที่จะได้แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค (The right to be heard)
5) สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (The right to satisfaction of basic needs)
6) สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ (The right to redress)
7) สิทธิที่จะได้รับความรู้เพื่อการบริโภคอย่างเท่าทัน (The right to consumer education)
8) สิทธิที่จะได้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี (The right to a healthy environment)
ที่มา: The 8 Consumer Rights