ประวัติองค์กร

ความเป็นมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

          ความเป็นมา การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้  ได้เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2540 โดยมีการรวมตัวกันของผู้บริโภคที่สนใจจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรผู้บริโภค ในพื้นที่ 4 จังหวัด  คือ โครงการบริโภคเพื่อชีวิตสงขลา, โครงการบริโภคสร้างสรรค์จ.สุราษฎร์ธานี, เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจ.สตูล และ ชมรมพลังผู้บริโภค จ.ตรัง ประเด็นปัญหาที่มีการดำเนินการในช่วงนั้น  จะเป็นประเด็นด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น  เรื่องคุณภาพน้ำดื่มในขวดบรรจุปิดสนิท  เครื่องสำอางอันตรายผิดกฎหมาย  การใส่ยาสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ เป็นต้น

          จากปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูล เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อเสริมพลังในการทำงานของแต่ละองค์กรในพื้นที่  จึงได้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้เมื่อปี 2545 และได้มีการทำงานระดับภาคภายใต้โครงการ “สร้างเสริมสุขภาพอย่างไร ไม่ต้องพึ่งอาหารเสริม” ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ภาคอีสาน  จากนั้นก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันในประเด็นต่างๆ  มาอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมผลักดันนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

          โดยเฉพาะการผลักดันดันให้มีองค์การอิสระผู้บริโภค รวมถึงการเป็นกลไกประสานหน่วยงาน สปสช.ระดับเขตพื้นที่ จัดกระบวนการเวทีพัฒนาศักยภาพระดมความคิดเห็นภาคีเครือข่ายประเด็นต่างๆ ต่อนโยบายสาธารณะ และได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และพัฒนากลไกเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้เกิดเครือข่ายนักวิชาการ  การจัดการความรู้ การพัฒนาเพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนงานผู้บริโภค ให้มีประสิทธิภาพเชิงระบบ

 

ผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีทำให้มีองค์กรผู้บริโภคระดับจังหวัดที่มีการทำงานอย่างชัดเจนมีความต่อเนื่อง  มีศักยภาพและมีต้นทุนที่พร้อมดำเนินงานประเด็นผู้บริโภคในพื้นที่อย่างน้อย  6 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ.กระบี่ จ.สงขลา จ.สตูล  และ จ.ปัตตานี

          โดยมีการดำเนินงานเป็นคณะทำงานระดับภาคร่วมกัน  จึงมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  โดยพบว่าหลายจังหวัดมีกระบวนการและกลไกสำคัญในการทำงานคือ  อาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภคระดับอำเภอ  ที่สามารถเป็นกลไกการเฝ้าระวังปัญหาผู้บริโภคในระดับพื้นที่  สามารถส่งต่อและประสานงานแก้ไขปัญหาผู้บริโภคได้  ทำงานเชื่อมโยงกับกลไกในระดับจังหวัดในการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆที่ชัดเจนอย่างน้อย 7 ด้าน  มีการจัดเวทีสภาผู้บริโภคในระดับจังหวัดเพื่อเป็นพื้นที่ในการนำเสนอปัญหาผู้บริโภคเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไข  ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  ในปี 2555 ได้สนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรผู้บริโภคใน 14 จังหวัดภาคใต้ให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ เช่น สคบ. สสจ. คปภ. ขนส่ง เป็นต้น ทั้งนี้มีผลการดำเนินงานที่สำคัญด้านสุขภาพได้แก่ ปฏิบัติการเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การจัดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัดและระดับภาค เช่น สภาผู้บริโภค “ขนมเด็ก … เรื่องเล็กจริงหรือ” สภาผู้บริโภค “เด็กไทยเรียนรู้ … เท่าทันเฝ้าระวังสื่อ” การรณรงค์ให้มีการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร สำรวจฉลากขนมเด็ก รณรงค์ฉลากขนมสัญญาณไฟจราจร รณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาลในเครื่องดื่ม การสำรวจพืชผักผลไม้ อาหารแห้งเพื่อพัฒนาระบบห้องทดลองในภูมิภาค ซึ่งปฏิบัติการต่างๆทำให้เกิดระบบข้อมูล และเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งในส่วนอาสาสมัคร หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ รวมถึงภาคีทุกภาคส่วน ผ่านการจัดการความรู้เครือข่ายผู้บริโภคทำให้เกิดการใช้เครื่องมือการฝึกอบรม สู่การพัฒนาคู่มือหลักสูตรบริโภคศึกษา ได้รูปแบบกลไกเวทีการจัดการปัญหาผู้บริโภคแบบมีส่วนร่วมทั้งการร่วมจัดการรายกรณีและการจัดทำข้อเสนอ ในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้จากปฏิบัติการในพื้นที่ ประกอบด้วย 3 ช่วงสำคัญ คือ

  • ช่วงแรก ปี 2540-2550 การพัฒนากลไกเฝ้าระวังด้วยอาสาสมัครผู้บริโภคผ่าน โครงการการสนับสนุนเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  โดยการทำงานเชื่อมโยงและสนับสนุนเครือข่าย  ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)  เกิดการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ดังกล่าวข้างต้น
  • ช่วงที่ 2 ปี 2550 ถึง 2555 การพัฒนาองค์กรผู้บริโภค การจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีการทำงานร่วมกับสมัชชาสุขภาพ รวมถึง ทดลองการจัดทำองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคจำลองผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) และประสานงานร่วมกับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค ประเด็นการเข้าสู่ช่องทางการร้องเรียน และความซับซ้อนของปัญหาผู้บริโภคโดยรวมและได้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคเพื่อคัดเลือกกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนตัวแทนภาคใต้  จำนวน 36 องค์กร ในพื้นที่ 14 จังหวัด
  • ช่วงที่ 3 ปี 2555 ถึง ปัจจุบัน พัฒนากลไกความร่วมมือ เน้นการมีส่วนร่วมกันทำแผนยุทธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด เป็นเครื่องมือในการทำงานองค์กรผู้บริโภคและภาคีภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกับ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างน้อย 2 หน่วยงานหลักคือ สคบ.จังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด

          ปัจจุบันเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ได้ขยายพื้นที่เครือข่ายมากขึ้น  ผ่านการดำเนินงานประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในชื่อเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ซึ่งทำให้เครือข่ายได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น มีพันธกิจร่วมในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคร่วมกันอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ โดยมีพื้นที่ในการทำงานดังนี้

พื้นที่การทำงาน พื้นที่หลักในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค พื้นที่ขยายในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
1. จังหวัดสงขลา (Songkhla)
2. จังหวัดสตูล (Satun)
3. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Surat Thani)
4. จังหวัดชุมพร (Chumphon)
5. จังหวัดกระบี่ (Krabi)
6. จังหวัดปัตตานี (Pattani)
7. จังหวัดภูเก็ต (Phuket)
8. จังหวัดยะลา (Yala)
9. จังหวัดนราธิวาส (Narathiwat)
10. จังหวัดตรัง (Trang)
11. จังหวัดพัทลุง (Phatthalung)
12. จังหวัดระนอง (Ranong)
13. จังหวัดพังงา (Phang-Nga)
และ 14. จังหวัดนครศรีธรรมราช (Nakhon Si Thammarat)

 

วิสัยทัศน์ (Vision)

องค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เชื่อมร้อยเครือข่าย เสริมสร้างพลัง
พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน

 

พันธกิจ (Missions)

1) เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้บริโภคและร่วมผลักดันติดตามข้อเสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

2) หนุนเสริมและพัฒนาภาคีเครือข่ายสู่ความเป็นองค์กรผู้บริโภคให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ และเชื่อมประสานเครือข่ายผู้บริโภคในระดับชาติ

3) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการยอมรับในการทำงานขององค์กรผู้บริโภค

 

วัตถุประสงค์ (Objectives)

1) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ

2) เพื่อหนุนเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับภาคีเครือข่ายสู่ความเป็นองค์กรผู้บริโภค

3) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการผลักดันข้อเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้อง

4) เพื่อเชื่อมประสานเครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับพื้นที่และระดับชาติ

 

นโยบาย (Our Policies)

1) สร้างการบริโภคอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมร่วมกับเครือข่ายประเด็นต่างๆ

2) ส่งเสริมและพัฒนาให้เครือข่ายเท่าทันต่อสถานการณ์รอบด้านด้วยระบบการจัดการเครือข่ายผู้บริโภคที่ทันสมัย

3) มีระบบข้อมูลที่เท่าทันสถานการณ์ต่อการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

4) สนับสนุนสวัสดิการให้คนทำงาน

5) เครือข่ายมีอิสระในการดำเนินงาน ไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มการเมืองและภาคธุรกิจ

 

ค่านิยมร่วม (Our Value)

“ยอมรับความหลากหลาย เชื่อมร้อยเครือข่าย สู่ความเป็นธรรม
วัฒนธรรมองค์กร พื้นที่แห่งการเรียนรู้ เข้าใจความต่างทางวัฒนธรรม”

 

คำขวัญ (Motto)

“องค์กรผู้บริโภค รวมพลังพิทักษ์สิทธิ”

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน