สอบ. ขอพบ กกพ. ถกทางแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ชี้ การบริหารไฟฟ้า – เชื้อเพลิง เอื้อกลุ่มทุนเกินควร

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ขอพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถกแนวทางแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่ต้นเหตุ ชี้การบริหารไฟฟ้าและเชื้อเพลิงของประเทศมีปัญหาเอื้อกลุ่มทุนพลังงานเกินควร หลัง กกพ. เคาะขึ้นราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) 68.66 สตางค์ ส่งผลให้ค่าไฟสูงถึง 4-5 บาทต่อหน่วย

เมื่อ 27 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา กกพ. มีมติให้ขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 ในอัตรา 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะพุ่งเป็น 4.34 ถึง 5.17 บาทต่อหน่วยขึ้นอยู่กับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของ กกพ. ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน รวมถึงค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า สอบ. ไม่เห็นด้วยกับมติการขึ้นค่าเอฟทีของ กกพ. และเห็นว่า สอบ.ในฐานะผู้แทนของผู้บริโภค และ กกพ. ในฐานะองค์กรกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า สมควรจะหารือกันถึงทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ

“แต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการผลิตไฟฟ้าตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผิดพลาด มุ่งเน้นการลงทุนที่เกินจำเป็น โดยมีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ผลักภาระต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าและค่าเชื้อเพลิงราคาแพงมายังผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านค่าเอฟที การพิจารณาขึ้นราคาค่าไฟฟ้าตามโครงสร้างที่เป็นอยู่มิได้นำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวเลย” สารีกล่าว

สอบ. จึงส่งหนังสือถึงประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพื่อขอเข้าพบและหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง กกพ. และ สอบ. ในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ระหว่างเวลา 9.30 – 12.00 น. หรือวันและเวลาอื่นตามที่ กกพ. กำหนดมา

“ขอให้ทุกคนร่วมกันติดตามผลและหวังว่าจะมีทิศทางที่ดีจากการหารือดังกล่าว” เลขาธิการ สอบ.กล่าว

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน