สอบ. เตรียมจัด 4 โปรฯ เด็ดให้ กสทช. หากไม่ตัดสินเพื่อคนส่วนรวม

สภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังค้านควบรวมกิจการ “ทรู – ดีแทค” กระทบสิทธิ์ผู้บริโภค พร้อมแจกโปรเด็ด ม.157 หมายศาล คำสั่ง ป.ป.ช. หนังสือร้องเรียนทั่วประเทศ หากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังยืนกรานอนุญาตควบรวมสองค่ายมือถือ พร้อมยื่นหนังสือประธาน กสทช. ตรวจสอบการทำงาน “รักษาการเลขาฯ กสทช.” หลังออกมาระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นให้ กสทช. ทำหน้าที่กำหนดเงื่อนไขผู้มีอำนาจเหนือตลาด จ่อฟ้อง กสทช. มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคีเครือข่ายผู้บริโภค ได้ออกมาแสดงจุดยืนอีกครั้งถึงการคัดค้านการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค ผู้บริโภคเตรียมแจกโปรเด็ดให้ กสทช. ด้วยการจ่อฟ้อง ม. 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์สาธารณะ โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค, สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค, สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค, จุฑา สังขชาติ ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคสงขลา และพวงทอง ว่องไว ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค จะทำให้คู่แข่งในกิจการโทรคมนาคมลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จะทำให้ทางเลือกผู้บริโภคลดลง ส่อจะเกิดการฮั้วกัน ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา “โปรดี –โปรเด็ด” ไม่จำเป็นต้องมีเพื่อดึงดูดลูกค้าอีกต่อไป ขณะเดียวกันการพัฒนาคุณภาพสัญญาณจะลดน้อยลง ไม่ต่างจากกิจการพลังงานที่แม้จะเปิดเสรีการแข่งขัน ก็ไม่เสรีจริง เพราะปัจจุบันก็ยังพบว่าทุกสถานีบริการน้ำมันกำหนดราคาเดียวกันทั้งหมด

“เมื่อการแข่งขันลดลง จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อผู้บริโภค เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าควบรวมกิจการแล้วจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภค โดยเห็นว่า สำนักงาน กสทช.และคณะกรรมการ กสทช. ในฐานะองค์กรจะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ภาคธุรกิจ เพราะไม่มีนักธุรกิจคนไหนเห็นใจผู้บริโภค ผู้บริโภคก็เป็นได้แค่ลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด”

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภค เตรียมมาตรการเสนอต่อสำนักงาน กสทช. และกรรมการ กสทช. ไว้อย่างน้อย 4 รายการ เป็นโปรโมชั่นพิเศษในเรืองนี้ ประกอบด้วย

1. วันที่ 23 กันยายน เวลา 9.30 น. สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้าพบประธาน กสทช. เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังออกมาระบุว่าสำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่าการรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค ต้องยึดตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ โดยให้ กสทช. ทำหน้าที่กำหนดเงื่อนไขผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งการออกมาระบุเช่นนี้ทำให้เกิดการตีความว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค

2. เรียกร้องให้ กสทช. ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด โดยเห็นว่ามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ที่จะประกาศออกมานั้นอ่อนยวบ อาทิ ใน 3 ปีห้ามบริษัทลูกของทั้งทรูและดีแทคควบรวมกิจการกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเห็นว่าไม่มีความหมายต่อการคุ้มครองผู้บริโภค

3. ยังไม่มีคำตอบจาก กสทช. กรณีที่สำนักงาน กสทช. ไปจ้างที่ปรึกษาอิสระจัดทำรายงานการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค ซึ่งมีส่วนได้เสียกับผู้ขออนุญาตควบรวมกิจการดังกล่าวหรือไม่ โดยบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของทรู ใช่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเห็นว่าต้องมีผู้รับผิดชอบหากมีการใช้รายงานฉบับนี้

และ 4. สภาองค์กรของผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย แสดงจุดยืนว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค และเห็นว่า กสทช. มีหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมายคือ คุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ลดการผูกขาด ส่วนหน้าที่ของการพัฒนากิจการโทรคมนาคมนั้น เป็นหน้าที่ของกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคม ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช.

เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค เป็นอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาในฐานะองค์กรกำกับอิสระ แต่ถ้า กสทช. ไม่ใช้อำนาจนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ก็พร้อมจะฟ้อง กสทช. ตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 157 ที่บัญญัติว่า เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ นอกจากนี้การพิจารณาในเรื่องนี้ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภค นักวิชาการ หรือเปิดโอกาสให้ผู้แทนผู้บริโภคได้เข้าไปเสนอความคิดเห็นถึงผลกระทบผู้บริโภคต่อ กสทช. ก่อนตัดสินใจ

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การทำหน้าที่ของ กสทช. ในขณะนี้ถือว่าผิดเจตนารมณ์อย่างมาก โดยเป็นองค์กรอิสระ แต่กลับทำหน้าที่เหมือนนายทะเบียน ทั้ง ๆ ที่กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค มูลค่าเป็นแสนล้านบาท กระทบต่อสิทธิพลเมือง สิทธิผู้บริโภค กระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก

“การเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. ได้สิทธิมากมาย มีรายได้ของตนเองจากการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการ ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ แต่กรรมการ กสทช. โดยเฉพาะกรรมการเสียงข้างมาก กลับลดทอนอำนาจของตนเอง เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจการควบรวมกิจการ แต่ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการในฐานะองค์กรกำกับอิสระซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

จึงอยากให้ กสทช. ตั้งสติ กลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ใช้ดุลพินิจของกรรมการแต่ละคน เพื่อตัดสินใจเรื่องนี้ ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยก็ไปจบที่การพิจารณาของศาล การที่กรรมการ กสทช. ชุดนี้พยายามโยนอำนาจให้กฤษฎีกา เป็นไปได้ไหมว่าที่ไม่กล้าตัดสินใจ ลึก ๆ รู้อยู่ว่าไม่ถูกต้อง ไม่ดีต่อสังคมไทย ไม่ดีต่อผู้บริโภค” สุภิญญาระบุ

จุฑา สังขชาติ สมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า มีความกังวลว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค จะทำให้คุณภาพของการให้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ต และการแข่งขันด้านราคาลดลง แม้ขณะนี้ยังไม่มีการควบรวมกิจการ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตของผู้คนหลังโควิดไปแล้ว

“เราเป็นห่วงและไม่เชื่อมั่นว่าคุณภาพบริการจะดีขึ้นหลังควบรวมกิจการตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งสมาคมผู้บริโภคสงขลาได้ติดตามเรื่องนี้มาต่อเนื่อง จัดเวทีพุดคุย โดยในวันที่ 23 กันยายนนี้ สมาคมผู้บริโภคสงขลาและอีก 9 จังหวัดจะไปยื่นจดหมายค้านการควบรวมกิจการ กับ กสทช. เขต และผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ เพื่อดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภค”

 

พวงทอง ว่องไว ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่าขณะที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตในการเดินทางข้ามจังหวัดยังประสบปัญหา จึงไม่เชื่อว่าเมื่อเกิดการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเหลือน้อยรายแล้วคุณภาพการให้บริการจะดีขึ้น โดยเห็นว่า กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแต่กลับละเลยไม่ให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ได้จัดกิจกรรมรวมถึงเวทีสาธารณะในประเด็นการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค เพิ่มทางเลือกหรือภาระผู้บริโภค ผลกระทบการควบรวม และอำนาจของ กสทช. ในการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจ

โดยผู้บริโภคในพื้นที่สัดส่วนร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค โดยเห็นว่าหากสถานการณ์ในเรื่องนี้ส่อจะนำไปสู่การควบรวมกิจการกันจริง เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือจะไม่เพียงยื่นหนังสือคัดค้าน แต่จะรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในพื้นที่

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน