สภาองค์กรของผู้บริโภค ชวนจับตาสถานการณ์การออกกฎหมาย – การบังคับใช้การกำหนดราคาของสถานพยาบาล หลังที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดี สมาคม-รพ.เอกชน ร้องเพิกถอนประกาศให้ “ยา-ค่ารักษา” เป็นสินค้าควบคุม ไปในเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว โดยระบุว่าหากไม่มีกฎหมายบังคับใช้การกำกับควบคุมราคายารักษาโรค จะกระทบผู้บริโภค ที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริง
จากสถานการณ์ปี 2562 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายผู้บริโภค เข้ายื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง กรณีสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.), ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อขอให้ยุติการยกเลิกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดราคายารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุมนั้น
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว โดยคำวินิจฉัยให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากค่ารักษาพยาบาลแพง โดยระบุว่าแม้ภาคประชาชนจะมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐ และมีการจัดประชุมกับภาครัฐและภาคเอกชนหลายครั้ง แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปกำกับดูแลควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรมได้
ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยว่า ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค. 2562 ที่กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรครวมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม จึงเป็นการทำหน้าที่ที่สมเหตุสมผล (อ้างอิง : http://bit.ly/3iVfJD1)
“แม้การยกฟ้องของศาลปกครองสูงสุดในกรณีข้างต้นจะสิ้นสุดในทางคดีแล้ว แต่ทว่าการยกฟ้องในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นชัยชนะของผู้บริโภค ที่ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นการออกกฎหมายและการนำมาบังคับใช้ในการกำหนดราคาของสถานพยาบาล เพราะหากไม่มีกฎหมายบังคับใช้การกำกับควบคุมราคายารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค รวมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคในโรงพยาบาลเอกชนที่ชัดเจนแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้บริโภคในเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริง” สุรีรัตน์ ระบุ
ปัจจุบันการขับเคลื่อนเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชนเป็นยุทธศาสตร์ภายใต้คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับปัญหาข้อร้องเรียนผู้บริโภคเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – เดือนสิงหาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 5 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 14,270 บาท
นอกจากนี้ การผลักดันนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องสิทธิฉุกเฉินวิกฤติ หรือสิทธิ UCEP เป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้ประเด็นดังกล่าว โดยที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคที่มี 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ ได้แก่ 1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6) อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย ยังคงถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชน เริ่มตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท เป็นต้นไป ซึ่งหากผู้บริโภคไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้ตามจำนวนที่ถูกเรียกเก็บ จะถูกบังคับให้ลงชื่อยินยอมรับสภาพหนี้จากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารับการรักษา จนทำให้มีภาวะหนี้สิน ล้มละลายจากการเจ็บป่วย
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค ได้จัดทำเสนอข้อเสนอนโยบายและการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังนี้
1. ขอให้ทบทวนเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (PA) ในสิทธิ UCEP โดยพิจารณาจาก
แนวทางสิทธิ UCEP Plus ที่ครอบคลุมให้กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลใดก็ได้จนกว่าจะหายป่วยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ให้นำข้อคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติ เป็นหนึ่งในเกณฑ์ประเมินการคัดแยกระดับความฉุกเฉินเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงข้อคิดเห็นทางการแพทย์แต่เพียงฝ่ายเดียว ในการประเมินหลักการดังกล่าว
2. ขอให้กำหนดการคิดอัตราค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ UCEP กรณีที่ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยหลังพ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมง ไปยังการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ อันเนื่องจากข้อจำกัดของระบบและความไม่เพียงพอของโรงพยาบาลจนกว่าจะหาเตียงได้
เพื่อเป็นการติดตามผลักดันนโยบายและมาตรการดังกล่าว ในวันจันทร์ ที่ 30 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะจัดประชุมเสวนา หัวข้อ “การผลักดันนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิ UCEP” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิฉุกเฉินวิกฤติ ให้ครอบคลุมผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค