สอบ. จับมือ สปสช. ร่วมแก้ไขปัญหาสิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพ

 

แม้ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิ รักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพได้ทั่วประเทศ ยังมีผู้บริโภคที่พบปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิรับบริการสุขภาพหลายประการ เช่น การถูกเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการโดยไม่มีสิทธิ (Extra Billing) ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) การเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ และ การคิดค่ารักษาพยาบาลราคาแพงจากโรงพยาบาลเอกชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค (วันที่ 27 เมษายน 2565) จึงจัดประชุมหารือกับผู้บริหาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา และเชื่อมโยงการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในบริการสุขภาพร่วมกัน

โดยมีผู้บริหารสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการฯ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ร่วมประชุมกับนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. เพื่อเชื่อมโยงระบบกลไกการทำงานและสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาและในทุกพื้นที่

 

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีหน้าที่ปกป้องพิทักษ์และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างรอบด้าน จึงควรมีการวางระบบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพร่วมกับ สปสช. เพื่อให้เกิดความชัดเจน ความยั่งยืน และความเข้มแข็งในการประสานการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งในการจัดการข้อร้องเรียน การสื่อสารเรื่องอุปกรณ์ คุณภาพการบริการของหน่วยบริการ รวมถึงปัญหาที่ผู้บริโภคถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บ (Extra Billing) เช่น การใช้ยานอกบัญชียาหลักแทน ซึ่งเป็นยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ายาในบัญชียาหลัก การถูกเรียกเก็บเงิน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หรือการเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ

 

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคกำลังผลักดันและพัฒนาระบบบริการสุขภาพในหลายประเด็น เช่น การปรับเกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (Emergency Pre – Authorization : PA) ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว และการศึกษากลไกประเด็นค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ขณะที่ นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ระหว่างรอความพร้อมของระบบกลไกการทำงานระหว่างหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สภาองค์กรของผู้บริโภค และ สปสช. ควรทำงานในประเด็นการสื่อสารร่วมกัน ทั้งการประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนปัญหาระบบบริการสุขภาพให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภค และ สปสช. จะมีการประชุมหารือ และ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนกิจกรรม ระบบกลไกการทำงานร่วมกันในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพต่อไป

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน