สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุน ครม. ยึดการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งฉบับในวันที่ 1 มิ.ย. 65 นี้ ตามกำหนดเดิม ชี้ หากเลื่อนบังคับใช้อาจพบปัญหาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น พร้อมระบุ ต้องประกาศใช้โดยไม่ควรยกเว้นหรือตัดหมวดใดหมวดหนี่งออก เพราะอาจเพิ่มโอกาสละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนที่ยากยิ่งขึ้น
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมประชุมกันเพื่อขอเลื่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ออกไปก่อน 1 – 2 ปี จากเดิมที่จะมีการประกาศใช้วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ 2565
เนื่องจากภาคเอกชนมีความกังวลว่า หากมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวตามกำหนดการเดิม อาจจะปรับตัวและเตรียมความพร้อมไม่ทันในการลงทุนกับระบบการจัดการข้อมูล รวมทั้งการอบรมพนักงานเพื่อรองรับการดำเนินการของกฎหมายดังกล่าว
นางสาวสุภิญญา มีความเห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ควรเป็นไปตามกำหนดการเดิม และเป็นการประกาศใช้ทั้งฉบับ หากมีการเลื่อนการบังคับใช้กฏหมาย หรือหากเป็นการยกเว้น และตัดหมวดสำคัญ ๆ ที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิผู้บริโภคออกไปนั้น อาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
แม้คณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไปในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 แต่ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 (การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) หมวด 3 (สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล)
หมวด 5 (การร้องเรียน) หมวด 6 (ความรับผิดทางแพ่ง) หมวด 7 (บทกำหนดโทษ) และความในมาตรา 95 มาใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานหรือกิจการตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาจำนวน 22 รายการ เป็นเวลารวม 2 ปี จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
“เมื่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่ประมวลผลข้อมูล ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ต้องรับผิดหรือถูกลงโทษ ตามบทบัญญัติในหมวด 6 (ความรับผิดทางแพ่ง) หมวด 7 (บทกำหนดโทษ) ก็จะไม่เกิดการปรับปรุงการทำงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด 2 (การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) และหมวด 3 (สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล) ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะเดียวกันในอนาคตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามหมวด 5 (การร้องเรียน) และหมวด 6 จะก่อให้เกิดความยากลำบากในการร้องเรียนและการเข้าถึงการเยียวยาแก่เจ้าของข้อมูลที่ถูกละเมิดสิทธิ”
นางสาวสุภิญญา กล่าวหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ในวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซี่งในที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนให้คณะรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามกำหนดการเดิมในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ 2565
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค