สำหรับผู้ที่อยู่ระหว่าง “ลดความอ้วน” บางคนเลือกการเลี่ยงบริโภคน้ำตาลมักหันไปใช้ “สารให้ความหวาน” แทน แต่ความจริงนอกจากจะไม่ช่วยลดน้ำหนักแล้ว WHO ยังเตือนว่าอาจเสี่ยงเกิดโรคร้ายตามมา
- ปัจจุบันสารให้ความหวานถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างควบคุมอาหาร
- แม้สารให้ความหวานจะไม่ใช่น้ำตาล แต่ WHO ออกมาให้ข้อมูลว่า หากใช้ในปริมาณมากอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
- ผลกระทบจากการใช้สารให้ความหวานเป็นประจำที่น่าเป็นห่วงคือ อาจเกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด
“สารให้ความหวาน” มักเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้ที่ต้องการ “ลดน้ำหนัก” เพื่อใช้บริโภคแทน “น้ำตาล” เนื่องจากต้องการลดบริโภคน้ำตาลที่มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และยังเป็นที่มาของโรคต่างๆ เช่น คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
โดยผู้บริโภคมักจะใช้สารแทนความหวาน ในการปรุงอาหารแทนน้ำตาล เพื่อให้มีรสชาติที่ดีรับประทานง่าย ทำให้ผู้ที่อยู่ระหว่างควบคุมน้ำหนักสามารถทานมื้ออร่อยได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องอดอาหาร
แม้ว่าดูเพียงผิวเผินแล้ว สารให้ความหวานเหมือนจะไม่ได้มีโทษมากนัก แต่ล่าสุด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาเตือนว่า สารให้ความหวานนั้นไม่เหมาะกับการ “ลดน้ำหนัก” และไม่มีประโยชน์ในการช่วยลดไขมันในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
- สารให้ความหวานคืออะไร แบ่งเป็นกี่ประเภท
สำหรับ สารให้ความหวาน หรือ Sweetener คือสารที่ใช้สำหรับแต่งรสชาติให้มีความหวานโดยไม่ใช้น้ำตาล ปัจจุบันได้รับความนิยมในการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพหรือคนที่อยู่ระหว่างควบคุมน้ำหนัก เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินความจำเป็น โดยสารให้ความหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามคุณค่าทางโภชณาการ ดังนี้
1. สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือให้พลังงานต่อผู้บริโภค ได้แก่ ฟรุกโตส (น้ำตาลธรรมชาติจากผลไม้) มอลทิทอล ซอร์บิทอล และไซลิทอล
2. สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือไม่ให้พลังงาน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “น้ําตาลเทียม” ได้แก่ ซูคราโลส สตีเวีย หรือสารสกัดจากหญ้าหวาน แอสปาแตม อะซิซัลเฟม-เค และแซคคารีนหรือขัณฑสกร
- อันตรายจาก “สารให้ความหวาน” ที่ WHO ออกมาเตือน คืออะไรบ้าง?
แม้ว่า “สารให้ความหวาน” จะเป็นตัวช่วยในการควบคุมน้ำหนัก แต่เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา WHO ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสารให้ความหวานว่า สารดังกล่าวไม่ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย หรือในการคุมอาหารหรือลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่
นอกจากนี้การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นเวลานานติดต่อกัน อาจสร้างผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในผู้ใหญ่
จากการทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาจากสารให้ความหวานที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลก รวมผลการศึกษามากถึง 283 กรณี พบว่า การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจเชื่อมโยงกับผลเสียด้านสุขภาพในระยะยาว แต่จากผลการศึกษาบางส่วนพบว่า การบริโภคสารเหล่านี้ที่สูงขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ WHO ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมด้านผลเสียของการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และยังคงเน้นย้ำว่าการใช้ความหวานเทียมนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีหรือตอบโจทย์การลดน้ำหนัก
ท้ายที่สุดการลดน้ำหนักนั้นไม่ใช่เพียงแค่การลดน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่การออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การลดน้ำหนักประสบความสำเร็จ
ส่วนใครที่ติดรสหวานมากๆ อาจเริ่มต้นจากการใช้น้ำตาลที่มาจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลจากผลไม้ หรือ น้ำตาลจากหญ้าหวาน แทนการใช้สารให้ความหวานกลุ่มอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียด้านสุขภาพตามมา ก่อนจะเริ่มปรับการบริโภครสหวานให้น้อยลง