ประเมินผล‘งบบัตรทอง’ปี 65 ‘รพ.รัฐ’ยังมีปัญหาบริการล่าช้า-หนุนชุมชนมี‘แพทย์’ประจำครอบครัว

‘สำนักงบประมาณ’ ประเมินผล ‘งบบัตรทอง’ ปีงบ 65 พบ ‘โรงพยาบาลรัฐ’ ยังมีปัญหาการให้บริการล่าช้า-สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชน ‘บางกลุ่ม’ หันพึ่ง ‘ประกันสุขภาพส่วนบุคคล’ มากขึ้น

……………………………….. 

สำนักจข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ กองประเมินผล สำนักงบประมาณ เผยแพร่รายงานการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบประมาณใน ‘โครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ ประจำปีงบประมาณ 2565 หรือ ‘งบบัตรทอง’ พบว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย จำนวน 9 ตัวชี้วัด และมีเพียง 2 ตัวชี้วัดเท่านั้น ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

สำหรับ 2 ตัวชี้วัด ที่กองทุนฯไม่บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 1 จำนวนผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 47,547,000 คน แต่ดำเนินการได้ 47,232,289 คน หรือคิดเป็น 99.34% ของเป้าหมาย และดัชนีที่ชัดที่ 7 จำนวนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 1,729,000 ครั้ง แต่ดำเนินการได้ 1,572,136 ครั้ง หรือคิดเป็น 90.93% ของเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น พบว่า ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการใช้สิทธิเมื่อไปใช้บริการผู้ป่วยในฯ คิดเป็น 88.49% ของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 0.51% เนื่องมาจากปัญหาการได้รับบริการที่ล่าช้าจากโรงพยาบาลของรัฐ ต้องรอคอยเพื่อรับการรักษานาน

ขณะที่ในบางรายสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมกับความต้องการรักษา ประชาชนบางส่วนจึงหันไปใช้ประกันสุขภาพส่วนบุคคลมากขึ้น

ส่วนผลสัมฤทธิ์ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล พบว่า ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่เพียง 2.1% ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาฯต้องไม่เกิน 2.3% ซึ่งสะท้อนว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการ สุขภาพ รวมถึงยาและเทคโนโลยีที่จำเป็น โดยไม่เกิดภาวะล้มละลายหรือยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

รายงานฉบับดังกล่าว ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ควรมีกำรยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิที่เน้นให้ชุมชนมีแพทย์ประจำครอบครัว การเพิ่มความสะดวกในการรับบริการ และลดความแออัดของระบบบริการ เพื่อให้ประชำชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบหลักประกันสุขภาพ

2.การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กร โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ มาปรับใช้อย่างจริงจังในการขับเคลื่อนระบบให้มีมาตรฐาน เพิ่มการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุม กำกับกำรเบิกจ่ายงบประมาณให้มีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด ประชาชนและหน่วยบริการได้รับความสะดวกจำกกำรให้บริการ

นอกจากนี้ ในส่วนข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ ได้แก่ 1.ควรเพิ่มการดำเนินการเชิงรุกและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ เพื่อลดปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประชาชน 2.การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยเน้นการรับฟังปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เพิ่มระบบสายด่วน Call center เพื่อรองรับกำรให้บริการ และเพิ่มช่องทำงกำรปรึกษาปัญหาทางการแพทย์ผ่านระบบ Social Media

3.จัดให้มีการพบปะประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหา โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุขภาพ และ 4. จัดการสื่อสารเชิงรุกกับกลุ่มต่างๆ ผ่านช่องทางใหม่ที่ทันสมัย เช่น Social Media เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในปีงบ 2565 มีจำนวนประชากรไทยผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งสิ้น 66,967,610 คน ประกอบด้วย 1.ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 47,232,289 คน 2.ผู้มีสิทธิประกันสังคม 12,721,515 คน 3.ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 5,298,815 ล้านคน 4.สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น 637,991 คน 5.สิทธิประกันตนคนพิการ 13,009 คน 6.สิทธิครูเอกชน 76,626 คน และ7.บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ 715,710 คน เป็นต้น

สำหรับผู้มีลงทะเบียนสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ จำนวน 66,695,955 คน คิดเป็นความครอบคลุมสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ร้อยละ 99.59 โดยมีบุคคลที่ยังไม่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 175,158 คน บุคคลที่ไม่อยู่ในทะเบียนบ้านรอยืนยันสิทธิ 85,358 คน และคนไทยในต่างประเทศ 11,139 คน

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน