ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “รับฟ้อง” คดีควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2565) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้อง หลังสภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นคำฟ้องให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค พร้อมนำรายชื่อผู้บริโภคจำนวน 2,022 ราย ที่ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนการฟ้องคดีดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคได้ยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ โดยต้องรอให้ทรูและดีแทคเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวก่อนจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากมองว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบจากการพิพากษาคดี ดังนั้น จำเป็นต้องให้ทั้ง 2 บริษัท ได้มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อศาล จึงมีคำสั่งเรียกทรูและดีแทคเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนมติดังกล่าวนั้น เนื่องจากมติของ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ
เนื่องจากเพราะก่อนมีการลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ทั้งที่มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีจำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมายเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด และก่อนการลงมติคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการรับฟังรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทางสำนักงานฯ ได้ว่าจ้าง
อีกทั้ง ในการลงมติฯ ประธานได้ออกเสียงชี้ขาดขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555
ส่วนเนื้อหาของมติดังกล่าวก็มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยขัดต่อข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดแจ้ง โดยในการลงมติจะต้องเป็นการอนุญาต หรือไม่อนุญาตเท่านั้น