สภาผู้บริโภคชี้ การเก็บค่ารักษาพยาบาล ‘สิทธิบัตรทอง’ เพิ่มเติม ทำให้เกิดการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน เสนอกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลโรงพยาบาลในสังกัด ด้าน สปสช. ยืนยัน ‘สิทธิบัตรทอง’ ต้องจ่ายค่าบริการไม่เกิน 30 บาท
วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แถลงข่าวเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) เป็นปัญหาสำคัญที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จึงอยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ทบวงมหาวิทยาลัยที่ดูแลโรงพยาบาลตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรมีข้อสั่งการไปถึงโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดของตัวเองเพื่อไม่ให้เรียกเก็บเงินผู้ใช้บริการเกินกว่าอัตราที่กำหนด
เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า การเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนดนั้น ทำให้เกิดมาตรฐานการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนควรได้รับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“สภาผู้บริโภคมีเป้าหมายที่อยากเห็นว่า ถึงแม้เราจะมี 3 กองทุนในปัจจุบันก็คือ บัตรทอง ประกันสังคม และบัตรข้าราชการ แต่เราก็อยากเห็นว่ามาตรฐานการรักษาเหมือนกันในทั้ง 3 ระบบ เพราะฉะนั้นก็หวังว่าสิ่งที่ได้สะท้อนในวันนี้คงจะได้ยินไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลของรัฐทั้งหลายผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมที่จะทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ยุติการเรียกเก็บเงินกับคนไข้ซึ่งเป็นสาเหตุหรือเป็นต้นต่อที่จะทำให้เกิดการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สารี ระบุ
สารีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพทั้งหมด 1,778 กรณี เป็นกรณีบัตรทองมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 38.58 หรือ 686 กรณี และส่วนใหญ่เป็นกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ตรงกัน หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติมจากผู้ป่วย
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บนั้น เบื้องต้นต้องชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ. 2545 หน่วยบริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) กำหนด
ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้ผู้ที่เข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพต้องเสียค่าบริการไม่เกิน 30 บาทต่อครั้ง ยกเว้นผู้ที่รับการยกเว้น ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในภาวะที่สังคมต้องช่วยเหลือเกื้อกูลต่าง ๆ รวมถึงผู้ใช้บริการที่ไม่สะดวกจะจ่ายค่าบริการในครั้งนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของปัญหาการสื่อสารไม่ตรงกัน หรือหน่วยบริการบางหน่วยอาจจะไม่ได้ทราบกติกาที่เปลี่ยนไปของ สปสช. บางครั้งสิทธิประโยชน์ออกมาใหม่ ๆ ก็ตามไม่ทัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปสช. มีรายการที่โรงพยาบาลสามารถเบิกได้ประมาณ 5,800 รายการ และจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเป็นระยะ โดยที่จะรับฟังจากผู้เข้ารับบริการและโรงพยาบาลผู้ให้บริการ
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพรับทราบปัญหานี้ และมอบให้ สปสช. เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่ง สปสช. ได้มีการขับเคลื่อน เช่น จัดสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 เป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริการสุขภาพ นอกจากนี้ ปัจจุบัน สปสช. อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์บริการสำหรับหน่วยบริการ (Provide Center) ซึ่งจะเป็นเหมือนกลไกกลางที่จะรับเรื่องจากหน่วยบริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยบริการและการประสานงานที่รวดเร็ว
“หากสามารถทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและปฏิบัติตามกติกาได้ ก็อาจจะช่วยลดปัญหาเรื่องการเก็บค่าบริการเกินอัตราที่กำหนดลงได้ ขณะเดียวกัน สปสช. จะทำหน้าที่ในการที่จะดูแลเรื่องงบประมาณที่จะสนับสนุนให้กับหน่วยบริการต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ราคาที่เราตกลงกันไว้ล่วงหน้าก็จะเป็นราคาที่หน่วยบริการพอใจ หรือถ้าไม่พอใจอย่างไรก็ต้องมีเวทีพูดคุยเพื่อจะหาแนวทางหรือราคาที่เหมาะสมต่อไป”