ลดตัวเลขแม่ตายหลังคลอด ‘3 จว.ใต้’ ได้ตามเป้า สปสช.เขต 12 เพิ่มงบให้

ผอ.สปสช.เขต 12 เผยร่วมท้องถิ่นใช้งบ กปท. ทำงานเชิงรุกผนึก ‘โต๊ะบีแด’ หมอตำแยโบราณ – ผู้นำแต่ละชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์ดูแลตัวเอง อย่างถูกต้อง พร้อมหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้โรงพยาบาล หากลดตัวเลขแม่ตายหลังคลอดได้ตามเป้า 


นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา (สปสช.เขต 12 สงขลา) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ได้ร่วมกับ ศอบต. เขตสุขภาพที่ 12 และหน่วยบริการ โรงพยาบาลในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งมี 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา เพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ โดยมีผลสำเร็จคือการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ในภาพรวมของพื้นที่เขต

อย่างไรก็ตาม แต่ในภาพรวม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ยังมีปัญหาหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงมากขึ้น และยังมีอัตราขการเสียชีวิตของมารดายังค่อนข้างสูง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญจากความเสี่ยงทางสุขภาพของประชากรในพื้นที่ โดยพบว่าส่วนใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีการตั้งครรภ์หลายครั้ง ทำให้ท้องหลังๆ ตอนอายุเลยวัยที่เหมาะสม ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความเชื่อทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ที่ยึดมั่นในตัวบุคคล หรือผู้นำชุมชน   โดยเฉพาะโต๊ะบีแด หรือหมอตำแยโบราณในพื้นที่ มากกว่าบุคลากรทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้การวางการฝากครรภ์ทำได้ยาก และส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพเข้าถึงระบบบริการล่าช้า แม้ว่า สปสช.เขต 12 สงขลา พร้อมสนับสนุนงบประมาณสำหรับบริการสุขภาพในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ฝากครรภ์ ตรวจสุขภาพครรภ์ ตรวจสุขภาพมารดาและทารก จนถึงการทำคลอด และติดตามอาการหลังคลอด ซึ่งเป็นสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่ครอบคลุมแล้วก็ตาม

นพ.วีระพันธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเห็นถึงสาเหตุ สปสช.เขต 12 จึงร่วมกับเขตสุขภาพที่ 12 หน่วยบริการในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน และภาคส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะแกนนำชุมชนในพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงกำลังสำคัญคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ร่วมกันเข้าไปขับเคลื่อนเชิงรุกในการให้องค์ความรู้สุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ร่วมกับโต๊ะบีแดร์ที่ชาวบ้านในพื้นที่เคารพเชื่อฟัง ร่วมให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์ในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมตามแนวทางสาธารณสุข ซึ่งได้นำร่องที่จังหวัดนราธิวาส และได้รับการตอบรับอย่างดี ก่อนมีการขยายผลและแนวทางไปยังจังหวัดปัตตานี และยะลาต่อไป

นพ.วีระพันธ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนดังกล่าวการขับเคลื่อนดังกล่าว ที่สปสช.เขต 12 สงขลาร่วมกับท้องถิ่น เป็นการใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.)  ที่สนับสนุนร่วมกันระหว่าง สปสช. และท้องถิ่น เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอบป.หลายแห่ง ได้นำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วย โดยเฉพาะการสนับสนุนของอุปโภค-บริโภคที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นอีกการสนับสนุนและส่งเสริมสำคัญที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์ในแต่ละชุมชนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพต่อตัวเอง และทารกในครรภ์ รวมถึงการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ จากท้องถิ่น

นพ.วีระพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในส่วนโรงพยาบาลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประสานว่าการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนมีความยุ่งยากสำหรับกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อทำการเบิกจ่าย โดยต้องระบุตัวตนทุกครั้งที่ให้บริการนั้น สปสช. เขต 12 ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อลดขั้นตอนการทำงานของหน่วยบริการ โดยให้ลงทะเบียนครั้งเดียวสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จากนั้น สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณสำหรับดูแลทั้งตั้งแต่ฝากครรภ์ไปถึงทำคลอด

พร้อมกันนี้ หากลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอดแบบมีชีพ ให้ภาพรวมของทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้เหลืออยู่ที่ 19 คนแต่แสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ สปสช.เขต 12 สงขลา ก็จะมีงบประมาณเพิ่มเติมสนับสนุนให้กับหน่วยบริการ โรงพยาบาลที่ทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย

“จะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่เป็นรางวัลสำหรับหน่วยบริการในสามจังหวัดชายแดนใต้ นอกเหนือไปจากการสนับสนุนการให้บริการสุขภาพในทุกด้านจากสปสช. เขต 12 ที่หากช่วยกันทำให้ภาพรวมมีตัวเลขการเสียชีวิตลดลงได้ ก็จะได้รับงบประมาณเพิ่มเติม แต่ว่าอาจจะได้รับแตกต่างกัน เช่น บางจังหวัดทำได้ดีกว่า ก็ได้รับงบประมาณที่มากกว่า เป็นต้น” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

นพ.วีระพันธ์ ยังกล่าวถึงภาพรวมของการสนับสนุนบริการสุขภาพสำหรับมารดาตั้งครรภ์ในภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 12 อีกว่า จากเดิมในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 มีอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้ง ในช่วงการระบาดของโควิด – 19 ก็พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อที่สูงเช่นกัน โดยสาเหตุพบว่าขณะนั้นการเข้าถึงวัคซีน และยารักษามีปัญหา ทำให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ได้รับยาล่าช้า

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเข้าไปหนุนเสริมระหว่างกันทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้กลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนป้องกันโควิด -19 และยารักษา เมื่อมีการติดเชื้อรวเร็วขึ้น ซึ่งทำให้ตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่ติดเชื้อแต่รอดชีวิตดีมากขึ้นเป็นลำดับ

“จากจุดนั้นทำให้เครือข่ายที่เคยร่วมทำงานกันมาก็ต่อยอดการทำงานเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสร้างกลไกและกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ คือ หญิงตั้งครรภ์และครอบครัว ชุมชน อสม. ถึงปลายน้ำ คือสูตินรีแพทย์ และอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญ และเสริมกำลังจากท้องถิ่นที่เข้ามาหนุนเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ภาพรวมอัตราการเสียชีวิตของมารดาในเขตสุขภาพที่ 12 ลดลงอย่างมาก และไม่ติดอันดับพื้นที่ที่เสียชีวิตสูงที่สุดของประเทศอีกแล้วในปัจจุบัน” ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 12 สงขลา กล่าวตอนท้าย

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน