สภาผู้บริโภค จับมือ 5 องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรของผู้บริโภค หวังขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุม  เพื่อคุ้มครอง – ช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างทันท่วงที

นที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และ มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบูรณาการเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค” เพื่อประสานความร่วมมือในการบูรณาการในการพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค

พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของ 6 องค์กรในครั้งนี้ จะช่วยอุดช่องโหว่ของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ครบทุกมิติและลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน เนื่องจาก สคบ.เป็นหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกมิติจึงต้องเกี่ยวข้องและร่วมมือกับทุกหน่วยงานในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้ง ยังมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อขยายฐานงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ ให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ส่วน ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. กำหนด 3 ยุธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและพัฒนาระบบยา คือ 1. พลังนโยบายผลักดันการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 2. พลังวิชาการ พัฒนามาตรการควบคุมสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ 3. พลังสังคม หนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ในการลงนามครั้งนี้ สสส. มีบทบาทสนับสนุนและร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคให้มีคุณภาพ ทั้งการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ทรัพยากรต่าง ๆ และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพให้มีบทบาทร่วมพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยจะขยายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่าง ๆ ให้มากขึ้น
ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ สช.กล่าวว่า ที่ผ่านมา สช. ได้มีการจัดเวทีโดยยกกรณีการให้บริการสุขภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อหาคำตอบร่วมกันว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคถูกระบุไว้ในธรรมนูญสุขภาพของพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีการลงนามความร่วมมือกันเกิดขึ้น หวังว่าในอนาคตจะเกิดการพัฒนาระบบ หรือกฎหมาย ที่จะมาช่วยคุ้มครองประชาชนร่วมกัน ให้เกิดความเท่าทัน และตอบสนองที่ทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีระบบออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดการบูรณาการระบบ มีกลไกธรรมาภิบาลและเกิดการมีส่วนร่วมร่วมกัน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภค เป็นองค์กรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจในการเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ดังนั้น การมีสภาผู้บริโภคจะทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยัง ส่งเสริมให้เกิดองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็งอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคอยู่ใน 40 จังหวัดและตั้งเป้าหมายให้มีทุกจังหวัดต่อไป
ในแง่ของการทำงาน เลขาธิการสภาผู้บริโภคเน้นว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคทำงานร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัดในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนองค์กรสมาชิกในระดับจังหวัด นอกจากนี้ หน่วยงานประจำจังหวัดยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่อีกด้วย ในการลงนามครั้งนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกลไกองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็งมากขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิ จะมีระบบ มีการวางแผนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงคาดหวังว่าองค์กรที่ถูกรับรองโดยศูนย์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จะสามารถจดแจ้งเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภค ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ทางด้าน พิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการ สปน. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปน.มีหน้าที่รับเรื่องจดแจ้งสมาชิกองค์กรของผู้บริโภค ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และได้จัดงบสนับสนุนในการจัดตั้งองค์กร เมื่อได้ลงนามในครั้งนี้บทบาทหน้าที่ของสปน. คือทุกองค์กรต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคมีคุณภาพและขยายจำนวนเครือข่ายเยอะขึ้น และเป้าหมายของสปน.คือการมีสมาชิกองค์กรให้ถึง 500 แห่ง โดยเชื่อว่าเมื่อมีองค์กรสมาชิกมากก็จะทำให้มีความเข้มแข็งที่จะช่วยเหลือคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ภก. วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธาน มวคบ. กล่าวว่าหน้าที่หลักของมวคบ.คือการทำงานด้านวิชาการในเรื่องสุขภาพ งานทดสอบต่าง ๆ เช่น เรื่อง การทดสอบสารตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยว ซึ่งในการทดลองต่าง ๆ ทาง มวคบ. ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้องค์กรของผู้บริโภคได้รับความเชื่อถือ สามารถดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ ในการลงนามครั้งนี้ มวคบ. พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน