สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาออนไลน์ สะท้อนปัญหาน้ำมันราคาแพง

 

เมื่อ 5 พ.ย.64 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานเสวนาออนไลน์ “รวมพลังผู้บริโภค สะท้อนปัญหาน้ำมันราคาแพง” เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคและประชาชนถึงสาเหตุปัญหาราคาน้ำมันแพงและข้อเรียกร้องที่มีถึงรัฐบาล โดยมีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้บริโภคที่สนใจในประเด็นเกี่ยวกับพลังงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วย

ดร.มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันหน้าปั๊มของประเทศไทยอยู่ที่ 39.96 สำหรับเบนซิน และ 29.69 สำหรับดีเซล ขณะที่ราคาของประเทศเมียนมาร์อยู่ที่ 26.22 บาท และ 24.84 บาท ตามลำดับทั้งที่นำเข้าน้ำมันจากประเทศไทย ส่วนราคาน้ำมันที่มาเลเซียอยู่ที่ 16.32 และ 17.11 ตามลำดับ โดยที่มาเลเซียใช้กำไรของบริษัทปิโตรนาสซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลมาสนับสนุนราคาน้ำมัน ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาราคาน้ำมันของไทยอยู่ที่การบริการจัดการ

“อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องการคิดราคาน้ำมันของไทย ที่สมมติราคาว่าเรานำเข้าน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ จึงใช้ราคาน้ำมันของสิงคโปร์และบวกค่าขนส่ง ทั้งที่โรงกลั่นอยู่ในประเทศไทย ซึ่งการคิดราคาแบบนี้เป็นการคิดราคาอ้างอิงในอดีตซึ่งโรงกลั่นของไทยมีไม่เพียงพอ ทั้งที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้เกินพอมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว” ดร.มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

สำหรับแนวทางการแก้ไข ดร.มล.กรกสิวัฒน์ ระบุว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้และเป็นส่วนที่อยู่ในการดูแลของรัฐ คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิต แต่ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันกลับมีการเก็บภาษีสรรพสามิตสูง (ปัจจุบันรายได้ภาษีน้ำมันรวมตั้งแต่ปี 57 – 63 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารัฐบาลอื่น ๆ เกือบสามเท่า) แต่ก็ยังใช้กองทุนน้ำมันมาพยุงราคาด้วย ดังนั้นหากลดภาษีสรรพสามิตลง ราคาภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะลดลง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันถูกลงด้วย

 

ทางด้าน คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัญหาราคาน้ำมันของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งเกิดจากการร่วมกันของรัฐและบริษัทผูกขาดทางพลังงานที่เมื่อข้าราชการเกษียณแล้วก็จะไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในทางนโยบาย

คุณธีระชัย อธิบายว่า รัฐบาลแต่ละยุคใช้ภาษีสรรพสามิตในการควบคุมราคาน้ำมันแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันของโลก หากราคาน้ำมันต่ำก็จะมีการเก็บภาษีสูง และเมื่อราคาน้ำมันสูงก็จะเก็บภาษีต่ำ แต่ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ช่วงต้นของรัฐบาลปัจจุบัน ราคาน้ำมันโลกมีราคาอ่อนตัวลง รัฐเลือกที่จะเก็บภาษีสรรพสามิตสูง แทนที่การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อเตรียมไว้ใช้พยุงราคาในช่วงน้ำมันราคาแพง

ในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันแพง รัฐไม่ยอมลดราคาภาษีสรรพสามิตลงแต่กลับใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาแทน ส่งผลให้กู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้พยุงราคาน้ำมัน และกลายเป็นการกู้ต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น ฉะนั้นข้อเสนอในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในขณะที่รัฐเสพติดภาษีน้ำมันจึงเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากจะต้องรื้อนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ทั้งหมด

 

ด้าน คุณรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ. ระบุว่า รัฐอ้างว่าเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูงเพราะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันกลับไม่เห็นว่ารัฐน้ำภาษีน้ำมันที่เก็บได้ไปอุดหนุนหรือพัฒนาบริการขนส่งมวลชนอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะเลย นอกจากนี้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยังแสดงถึงความไม่เป็นธรรมเนื่องจากทุกคนจ่ายเท่ากันในอัตราเดียวกันไม่ว่าจะมีรายได้น้อยหรือมาก และรัฐยังมีการเว้นภาษีให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานอีก (กลุ่มผู้ประกอบการตามมาตรา 7) ขณะที่มีการเก็บภาษีธุรกิจประเภทอื่น ๆ สูง

คุณรสนา เสนอว่า น้ำมันเป็นต้นทุนของธุรกิจหรือภาคการผลิตที่จำเป็นจะต้องทำให้ต่ำที่สุดโดยที่ต้องไม่มีการชดเชย รัฐควรต้องทำให้ราคาพลังงานต่ำเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ แล้วรัฐค่อยเก็บภาษีจากกำไรของธุรกิจไม่ใช่เก็บภาษีจากต้นทุนอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เครือข่ายผู้บริโภคและประชาชนควรร่วมกันเรียกร้องให้รัฐกำกับราคาน้ำมันให้ไม่เกิน 25 บาท มิใช่ราคา 30 บาท อย่างที่รัฐกล่าวอ้าง เนื่องจากเป็นราคาที่รัฐสามารถทำได้ และเป็นราคาตลาด

 

สอดคล้องกับ คุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยังยืนยันจะตรึงราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ก็อาจทำให้หลายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น เพราะการขนส่งเป็นเหมือนสายพานของสินค้าอื่น ๆ ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ เคยยื่นข้อเสนอเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันไปยังรัฐบาล เช่น ให้นำน้ำมันไบโอ 100 ออกไปจากระบบโครงสร้างน้ำมันเป็นการชั่วคราว และให้พิจารณาลดภาษีน้ำมันแต่ละประเภทเท่าที่จะลดได้

ทั้งนี้ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ฝากถึงรัฐบาลว่า ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการจัดการเพื่อให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 25 บาท เพื่อทำให้ภาคการขนส่งสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ เมื่อค่าขนส่งไม่เพิ่ม ราคาสินค้าก็จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ด้วย

“การเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งเท่านั้น แต่ต้องการให้ดูแลภาคประชาชนด้วย เพราะเรามองว่ามันมีวิธีที่จะจัดการปัญหาดังกล่าว โดยที่ไม่ต้องไปกู้เงินตามที่รัฐเคยระบุว่าจะกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาทเพื่อพยุงให้น้ำมันราคาไม่เกิน 30 บาท” คุณอภิชาติระบุ

 

ทางด้าน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ไบโอดีเซลมีราคาสูงคือ หนึ่ง มีเจ้ามือรายใหญ่คอยกำหนดราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สอง การปั่นราคาขึ้นลงทำกำไร ทำให้ราคารับซื้อผลผลิตปาล์มไม่แน่นอน เกษตรกรไม่มีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์จากราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ปลายทาง และสาม กลไกการคิดราคามีช่องโหว่ มีการแจ้งราคาซื้อขายเท็จ กล่าวคือ ราคาไบโอดีเซลมีทั้งสิ้น 3 ราคา แบ่งตามวัตถุดิบ คือ น้ำมันปาล์มดิบ เสตียรีน และ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ โดยไบโอดีเซลส่วนใหญ่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ แต่กลับใช้ราคาน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ซึ่งมีราคาสูงที่สุดแทน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ชาลี ระบุว่า การยกเลิกการใช้ไบโอดีเซลจะส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาราคาน้ำมันคือ รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างการกำหนดราคาไบโอดีเซล อุดช่องโหว่การแจ้งราคาเท็จ ทำให้สะท้อนราคาซื้อขายจริงที่รับซื้อโดยการประมูลระหว่างโรงงานผลิตและผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) นอกจากนี้ รัฐควรใช้กลไกภาษีสรรพสามิตเข้ามาจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำประเด็นเรื่องมลภาวะและการปลดปล่อย CO2 ที่ลดลงของแต่ละเชื้อเพลิงมาใช้ในการพิจารณากำหนดราคาด้วย

 

ส่วน คุณอธิราษฎร์ ดำดี ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ระบุว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ราคาปาล์มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง จากปกติจะอยู่ระหว่าง 2.88 – 4.17 บาท (ราคาประกันรายได้อยู่ที่ 4 บาท) สำหรับสาเหตุที่ราคาปาล์มสูงขึ้นเกิดจากการขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ภาครัฐได้สนับสนุนให้มีการปลูกสวนปาล์ม รวมถึงนำน้ำมันไบโอดีเซลเข้ามาใช้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพง แต่ทุกครั้งที่ราคาปาล์มสูงขึ้นก็จะมีการลดสต็อกน้ำมันไปโอดีเซลลงมาเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ในขณะที่ปาล์มเป็นพืชยืนต้นที่ปลูกแล้วมีอายุการเก็บเกี่ยวถึง 25 ปี เมื่อลดปริมาณการใช้ไบโอดีเซลจึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว

หนึ่งในข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีมาอย่างต่อเนื่องคือ ต้องการให้มีโครงสร้างราคาปาล์มทะลายที่ถูกต้อง รวมถึงมีโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มบริโภค และโครงสร้างราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่เป็นธรรมทั้งระบบ เพราะแม้ว่ารัฐพยายามสร้างกลไกในการดูแลราคาพลังงาน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลราคาน้ำมันไบโอดีเซล แต่เมื่อต้องบวกกับภาษีและค่าการตลาดต่าง ๆ ทำให้ราคาไบโอดีเซลสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นการเรียกร้องที่เหมาะสมน่าจะเป็นให้รัฐปรับปรุงโครงสร้างการคิดต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง

รับชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/tccthailand/videos/597750321367110

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน