ผนึกกำลังองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสร้างพลังแข็งแกร่ง

สร้างพลังผู้บริโภคเข้มแข็ง ต้องผนึกกำลังองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหนึ่งเดียว พร้อมเปิดทางผู้ประกอบการ-ทุกภาคส่วน เข้าร่วมเป็นสมาชิก

“ จุดอ่อนขององค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ณ เวลานี้ เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ยังไม่ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว จึงเกิดความทับซ้อนของงาน ผลที่ตามมา จึงกลายเป็นความไม่เข้มแข็ง ฉะนั้น การปรับหมุดหมาย เป็น ONE STOP SERVICE บริการครบวงจรให้กับ ผู้บริโภค “ หมายถึง ร้องทุกข์ แค่ 1 แห่ง แต่ได้ผลครอบคลุมทุกแห่ง “เมื่อกลายเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง จึงสร้างความคร้ามเกรงต่อผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งช่วยให้ปิดช่องการถูกฟ้องปิดปาก ( SLAPP LAW )

ข้อเสนอแนะข้างต้น มาจากแนวคิดของ นายชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อุปนายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มองภาพเป็นรูปธรรมต่อการผนึกกำลัง ของ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค มีหลายมิติที่ต้องเร่งทำ ทั้งการเป็นองค์กรที่แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เรือสำราญทิ้งนักท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นปัญหาเดียวกัน แต่ผู้บริโภค ต้องกระจายไปร้อง หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สภาองค์กรของผู้บริโภค ( สอบ. ), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ( มพบ. ), สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ.), กรมการท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญ ต้องคิดหาวิธี ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสามารถรวมศูนย์ร้องเรียนเพียงจุดเดียว แต่ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด ได้ประโยชน์ต่อการหารือร่วมเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา นี่เองจะเป็นตัวช่วยให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีพลัง ในการมองภาพได้ทะลุปรุโปร่ง สามารถจัดการแก้ปัญหาอย่างมีพลัง รวมถึง นำประสบการณ์ฟ้องคดี ของแต่ละองค์กรนำมาถอดบทเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ร่วมกัน ถือเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ

ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญ นั่นคือ ในแต่ละองค์กรมีบุคลากร “อยู่ในวงที่แคบเกินไป” เพราะ 1 คน ต้องสวมหมวกกันหลายใบทำงานหลายบทบาทหน้าที่ในอีกหลายองค์กร ทำให้ต้องวิ่งรอกทำงานปัญหาเกิดจาก การกำหนดคุณสมบัติแบบปิดกั้น เพียงเพราะเป็นผู้ประกอบการ หรือข้าราชการ ทั้งที่ทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภค ที่ต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนกัน อันไหนดี ก็ควรส่งเสริมเรื่องไหนไม่ดี ก็ต้องคุยกัน เพราะหากกีดกันไปอยู่คนละฝ่าย เผชิญหน้ากันหมดทุกเรื่องมันก็ขยับไปไหนไม่ได้ อย่าเป็นแบบ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” ต้องมองความเป็นไปได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม อย่ามองแต่ข้อจำกัด เพราะเมื่อแต่ละฝ่ายต่างเปิดโอกาส ให้กัน มันก็ทำให้มีช่องทางที่ดีในการสื่อสาร เรื่องนี้แหละที่คิดว่า ต้องทำขึ้นมากๆ มีระนาบไหนที่จะกวาดคนกลุ่มนี้ให้มารวมพลังที่เป็นมิติผู้บริโภคเข้มแข็ง “การพยายามสร้างประจักษ์เชิงบวก เยอะๆ ช่วยกันเติมเต็ม สร้างศักยภาพ ซึ่งกันและกัน การมีเจตนาดี และทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ต้องสร้างความแข็งแรงไปด้วยกัน เหมือนเป็นภารกิจที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม นี่สิ ! ถึง ถึงจะพูดได้เต็มปากว่า เป็นการรวมพลังที่เป็นมิติผู้บริโภคเข้มแข็งในส่วนผู้บริโภค ต้องเปิดพื้นที่ให้มีโอกาสได้แสดงบทบาท ได้แลกเปลี่ยน ให้เชื่อมโยงข้อมูลได้แข็งแรงมากขึ้น เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้แข็งแรงกันมากขึ้น ทุกภาคส่วนต้อง รับฟัง และ เปิดพื้นที่ทำงานประสาน เรียนรู้กันให้มากๆ ช่วยประสานงานขยับการดูแลผู้บริโภคได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย

เมื่อถามว่า มองภาพผู้บริโภคอย่างไร? ในยุคสมัยที่มิจฉาชีพเฟื่องฟู รวมถึงผู้ประกอบการบางส่วน ที่มักหาช่องเอาเปรียบ ประเด็นนี้ อุปนายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค บอกว่า มองได้หลายมิติ เช่น ผู้บริโภคบางกลุ่ม ตื่นรู้มากกว่าเดิม เพราะรับฟังข้อมูลข่าวสาร ศึกษาอดีต รู้สิทธิ์ของตัวเอง จึงมีทางเลือก แต่ผู้บริโภคบางกลุ่มเจอปัญหาเพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูลข่าวสาร จึงกลายเป็นผู้สูญเสีย ซึ่งบริบทเหล่านี้ ต้องเร่งสร้างการตื่นรู้ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ ผนึกกำลังกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น อย่ามองเป็นเรื่องของคนอื่น เพราะคนอื่นอาจกลายเป็นคนใกล้ตัวที่เจอปัญหาการถูกหลอกลวง การถูกเอารัดเอาเปรียบไม่วันใดก็วันหนึ่ง

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนจะได้เห็น องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทุกแห่ง ผนึกกำลังมาทำ MOU เป็น ONE STOP SERVICE บริการครบวงจรให้กับผู้บริโภค? อุปนายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยอมรับว่า ไม่สามารถกำหนดตายตัว เพราะแต่ละแห่ง ล้วนมีวัฒนธรรมองค์กร และข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการมองเห็นภาพใหญ่ หรือ การเกิดมหกรรมผนึกความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม จึงยังเป็นแค่ต้นทาง แต่การเดินหน้าพัฒนาไปให้ถึงจุดหมายปลายทางต้องอาศัยพลังเจตจำนงของผู้บริหารระดับสูงแต่ละองค์กรโดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคเป็นหลักใหญ่

จากแนวคิดข้างต้น มองเห็นได้อย่างหนึ่งถึงประเด็นที่ทำให้ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้รับรางวัล “ระดับดีเด่น ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค” พิธีมอบเกียรติบัตรจัดขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ซึ่งนายชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อุปนายก สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เป็นผู้ขึ้นรับรางวัล บอกว่า ถือเป็น หมุดหมายหนึ่ง ที่เป็นผลงานความภาคภูมิใจ ซึ่งสหพันธ์ ได้รับรางวัลดีเด่น ฐานะทำงานเพื่อผู้บริโภคได้อย่างประจักษ์ชัดยาวนานกว่า 20 ปี

และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะ ”องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างมีพลัง และคุณภาพ”เป็นเวลากว่า 30 ปี ด้วยการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีได้ การเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเลือกสินค้า สนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรต่างๆมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอนโยบายมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

รางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากศักยภาพการเป็นองค์กรที่สร้างรากฐานให้เป็นที่พึ่งของผู้บริโภค ทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการ และ แนวทางพัฒนาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยปี พ.ศ. 2566 มีองค์กรของผู้บริโภคที่มีคุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ และผ่านการพิจารณา ของคณะกรรมการประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จำนวน 8 องค์กร ซึ่ง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับรางวัล ระดับยอดเยี่ยม ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค” พิธีมอบเกียรติบัตร จัดขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อ 1 กันยายน 2566 โดยมีนางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้รับมอบรางวัลระดับยอดเยี่ยมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคตำบลละลม จังหวัดศรีสะเกษ , ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเขตวังทองหลาง

รางวัลระดับมาตรฐาน ประกอบด้วย ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเขตบึงกุ่ม, เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคไทย จังหวัดนนทบุรี, ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเขตวัฒนา และชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเขตมีนบุรี

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นประธานมอบเกียรติบัตร บอกถึงวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพองค์กรของผู้บริโภคให้เกิดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 ได้กำหนดไว้ว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน