ผู้บริโภคยังถูกละเมิดจากการซื้อสินค้าและบริการ

สิทธิผู้บริโภคสากล บน สิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน ของ ประชาชน แต่ผ่านมา กว่า60 ปี ยังถูกละเมิด ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศตัวร่วมกับเครือข่ายเป็นพลังปกป้อง

15 มีนาคม ของ ทุกปี เป็น ‘วันสิทธิผู้บริโภคสากล’ หรือ ‘World Consumer Rights Day’ ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ ที่มีขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง ส่งเสริมให้มีความเคารพ และ ปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก

วันสิทธิผู้บริโภคสากล เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1962 หรือ พ.ศ. 2505 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “จอห์น เอฟ. เคนเนดี “ เป็นผู้บัญญัติขึ้น ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจาก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ต่อมา วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1983 หรือ พ.ศ. 2526 ถือเป็นครั้งแรก ที่จัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จนแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ได้บัญญัติ สิทธิผู้บริโภคสากล ขั้นพื้นฐานไว้ 8 ประการ ดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข
  2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีผลิต และบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต
  3. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ
  4. สิทธิที่จะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม ในราคาที่เกิดการแข่งขันกัน และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และในราคายุติธรรม
  5. สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ
  6. สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่องหรือเสียหายหรือการช่วยเหลือหรือการชดใช้อื่น ๆ
  7. สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน เป็นสิทธิที่จะได้รับความรู้ที่ควรรู้ ควรมี ในการที่จะใช้ในการต่อสู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
  8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย

สำหรับ ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งปรากฏใน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ซึ่ง บัญญัติ ตาม มาตรา 46 ที่ว่า “สิทธิของผู้บริโภค ย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

องค์กรของผู้บริโภค ตาม วรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

อีกทั้ง ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 และ2556 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้ 5 ประการ ดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง และเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

หากนับจากจุดเริ่มต้น การก่อตั้ง ‘วันสิทธิผู้บริโภคสากล’ เมื่อ ค.ศ. 1962 หรือ พ.ศ. 2505 กระทั่งก้าวข้ามจนถึงปี 2566 เท่ากับ เวลาผ่านมาถึง 61 ปี แต่สิทธิผู้บริโภคไทย ยังคงถูกละเมิด จากการซื้อสินค้าและบริการ ที่สำคัญ เศรษฐกิจย่ำแย่ในยุคนี้ ก็ยังมีโจรวายร้ายหาช่องทางหลอกลวงผู้คน จนตกเป็นเหยื่อสูญทั้งเงินและทรัพย์สิน

จากเหตุการณ์เหล่านี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ของปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่เกิดจาก เฟซบุ๊กปลอมขายสินค้าหลอกเหยื่อโอนเงิน , สัญญาไม่เป็นธรรม , สินค้าไม่ตรงปก , เป็นต้น ซึ่งเคสจากกลุ่ม ความเสียหายนี้ มีมากเป็นอันดับ 1 ตามด้วย อันดับ 2 , การเงิน, การธนาคาร , ประกัน อันดับ 3 คือ บริการขนส่งและยานพาหนะ , อันดับ 4 สื่อและโทรคมนาคม อันดับ 5 อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่ ( สถิติการร้องเรียน ระหว่างวันที่ 30 มกราคม 2566 ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2566 )

นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคไทยยังคงเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนและหลากหลายตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น จึงใช้ทั้งมาตรการเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึง การฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค เพราะ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามกฎหมายได้ ถึงแม้ มีความรู้และประสบการณ์มายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในงาน แต่การจะทำให้งานคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วม และในฐานะที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีสถานะเป็น หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงให้ความสำคัญกับงานเครือข่าย โดยร่วมกันเคลื่อนไหว ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อสร้าง “พลังผู้บริโภค “ ที่เข้มแข็งโดยมี ศูนย์ทนายเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์สิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนในกรุงเทพฯ ที่อาสาเข้ามาทำงานด้านการรับเรื่องร้องเรียน และการประสานงานด้านต่างๆ มีศูนย์ประสานงานกับทางชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งสำนักงานเขต สถานีตำรวจ เป็นต้น การให้ความสำคัญกับงานการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเราคนเดียวที่ทำสำเร็จ แต่เป็นพลังภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนทางสังคมต่างหาก ที่เป็นพลังมวลรวมและเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ช่วยเสริมจุดอ่อนภาครัฐ สร้างความเข้าใจในเจตนาของการเสนอแนะแนวทางการบริหารราชการที่ดีต่อภาครัฐ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ โดยเฉพาะการเป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียง ให้ผู้บริโภคก่อนถูกละเมิดสิทธิ การถูกเอารัดเอาเปรียบ “เพราะสิทธิผู้บริโภค คือ สิทธิพลเมือง” และ “พลังผู้บริโภค คือ พลังพลเมือง”

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน