รองนายกฯ รับปาก ยังไม่นำ CPTPP เข้า ครม. หากยังไม่มีการศึกษารอบด้าน

 

วันนี้ (20 ธันวาคม 2564) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch (เอฟทีเอ ว็อตช์) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP จัดประชุมหารือร่วมกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พร้อมคณะ กรณีการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

ในการประชุม เอฟทีเอ ว็อตช์ และเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 คนที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ได้พูดคุยถึงข้อกังวลในผลกระทบที่รุนแรงและระยะยาวต่อประชาชน และนำเสนอให้ กนศ.ยุติความพยายามที่จะนำเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะประธาน กนศ. ได้รับทราบถึงจุดยืนของภาคประชาสังคมและกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว ข้อมูลของ กนศ. กับ FTA Watch รวมถึงองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP นั้นแตกต่างกัน และเป็นข้อมูลที่มองจากคนละมุม ทั้งนี้ ในฐานะประธาน จะนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้กลับไปคุยกับ กนศ. เพื่อหาทางออกต่อไป

ทั้งนี้ นายดอน รับปากกับ เอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า จะยังไม่นำ CPTPP เข้าให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อยื่นเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงกับประเทศสมาชิก จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงผลกระทบทุกฝ่ายอย่างแท้จริงรอบด้านตามข้อกังวลของภาคประชาสังคม

ด้ายนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเอฟทีเอ ว็อตช์ ย้ำถึงจุดยืน 4 ข้อของภาคประชาชนซึ่งได้รวมอยู่ใน ข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ดังนี้

          หนึ่ง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ

          สอง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก

          สาม การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย

          และสุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน