ใครคือเสียงข้างมาก? เรียกร้องเปิดรายชื่อ กสทช. ลงมติอุทธรณ์ ‘คดีปัดเศษวินาที’

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค ผิดหวัง มติ กสทช. ชุดใหม่สั่งอุทธรณ์ ‘คดีปัดเศษวินาที’ พร้อมเรียกร้อง กสทช. เปิดรายชื่อกรรมการที่ลงมติขัดประโยชน์ผู้บริโภค

จากกรณีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ ทรูและเอไอเอส คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยห้ามปัดเศษวินาที รวมทั้งให้ กสทช. พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ให้ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว นั้น

 

เมื่อ 13 ส.ค.65 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยี สภาองค์กรของผู้บริโภค และในฐานะอดีต กสทช. กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ให้ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมากสำหรับสภาองค์กรของผู้บริโภค และผู้บริโภคทั่วประเทศ เพราะคำตัดสินของศาลปกครองกลางนั้นเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่การยื่นอุทธรณ์ของ กสทช. จะทำให้เกิดความล่าช้าและผู้บริโภคเสียประโยชน์ในระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมติดังกล่าวเป็นมติที่มาจากคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่น่าจะแสดงผลงานในการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอยากเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยมติที่ประชุมรวมถึงรายชื่อกรรมการเสียงข้างมาก ที่ลงมติอุทธรณ์คดีคิดค่าโทรปัดเศษวินาที เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบธรรมาภิบาลของ กสทช. ได้

นางสาวสุภิญญา ระบุอีกว่า ในการใช้บริการโทรคมนาคม ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้จ่ายค่าบริการตามที่ใช้งานจริง แม้การปัดเศษวินาทีอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้บริโภคแต่ละราย แต่ก็รวมกันเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่ผู้ประกอบการได้รับ และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้บริโภคมาตลอด และเมื่อคำตัดสินของศาลปกครองกลางเป็นไปเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้บริโภคก็รู้สึกดีใจ ขณะเดียวกัน รู้สึกผิดหวังที่ กสทช. ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน ทั้งที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งควรจะปกป้องสิทธิผู้บริโภค

“แม้ กสทช. จะมีสิทธิในการสู้คดีให้ถึงที่สุด แต่การตัดสินใจยื่นหรือไม่ยื่นอุทธรณ์ก็สะท้อนแนวทางการทำงานของ กสทช. ว่ามีจุดยืนในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าว

นางสาวสุภิญญา แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการ กสทช. ชุดเดิมที่ดำรงตำแหน่งและรักษาการมาเกือบ 10 ปี ไม่แสดงความเข้มแข็งในกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภค แต่เมื่อ กสทช. มีคณะกรรมการชุดใหม่ จึงเป็นช่วงที่สังคมไทยมีความคาดหวังว่าความเปลี่ยนแปลงจะทำให้กรรมการได้แสดงผลงานและศักยภาพในการพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือน – 1 ปีแรก

แต่หากมติของคณะกรรมการชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่ง เป็นไปในแนวทางที่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ แล้วในระยะเวลาอีก 5 – 6 ปีที่คณะกรรมการชุดนี้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ สังคมจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่พิทักษ์ประโยชน์สาธารณะได้ เพราะเมื่ออยู่นานไปก็จะเกิดสภาวะเฉื่อยชาหรืออาจสร้างความสนิทสนมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนจนเกิดความเอนเอียงมากขึ้น เหมือนสภาพของคณะกรรมการ กสทช. ชุดแรกก่อนหน้า ที่ในช่วงปีหลัง ๆ ไม่ค่อยมีผลงานในการคุ้มครองผู้บริโภคเท่าที่ควร

สำหรับเรื่องมติที่ประชุม กสทช. นั้น ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าวว่า กสทช. ควรมีการแถลงข่าวให้ชัดเจน ว่ามติที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ในประเด็นเรื่องการอุทธรณ์คดีปัดเศษวินาทีเป็นอย่างไร และเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย รวมถึงความคิดเห็นของกรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการอุทธรณ์

เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า คณะกรรมการ กสทช. ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งมีกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น มีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร เพราะจะเป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ด้วย ทั้งนี้ คาดหวังให้ กสทช. ดำเนินงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลมาว่า กรรมการที่ลงมติให้ยื่นอุทธรณ์นั้นเป็นกรรมการด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หากเป็นเรื่องจริงก็น่ากังวล เพราะถ้ากรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคไม่พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแล้ว เราจะมีความหวังกับกรรมการฝ่ายอื่น ๆ ได้อย่างไร และชะตากรรมของผู้บริโภคภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ชุดใหม่ซึ่งยังมีวาระอีก 5 – 6 ปีจะเป็นอย่างไร” นางสาวสุภิญญาตั้งคำถาม

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยี สภาองค์กรของผู้บริโภค จะมีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และจะส่งข้อเสนอไปยัง กสทช. ทั้งในแง่ของการเสนอความคิดเห็น รวมถึงการย้ำเตือน กสทช. ถึงบทบาทหน้าที่ในการทำงานด้านการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน