148 องค์กร ชงรัฐ 5 ข้อ แก้ปัญหาค่าไฟแพง

148 องค์กร ยื่น 5 ข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพง เสนอตรึงค่า Ft ผู้ใช้ไฟทุกภาคส่วน – หยุดนำเข้าไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน หยุดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าล้นระบบ

เมื่อ 22 ธันวาคม 2565 รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั้งประเทศต่างได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพงทั่วทุกภาคส่วน โดยต้องรับภาระค่าไฟฟ้าในอัตรา 4 – 6 บาทต่อหน่วย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นเป็นเพียงปัจจัยปลายเหตุเท่านั้นและการแก้ไขปัญหาดูแลค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟเพียงบางกลุ่มด้วยเงินภาษีของประชาชนก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ตรงจุด

“ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง คือ การที่รัฐยังไม่ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยการทำให้กิจการพลังงานไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน” รสนา ระบุ

รสนา กล่าวอีกว่า เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายไฟฟ้า ประปา และยาเพื่อชาติและประชาชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์กรของผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้ยื่นข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงานเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ดังนี้

1. ขอให้ตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคเกษตรกรรม

2. ขอให้หยุดอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ทั้งในประเทศและการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขณะนี้มีปัญหาไฟฟ้าล้นระบบ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง

3. รัฐต้องบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ โดยกำกับดูแลให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ จัดหาก๊าซธรรมชาติและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวม

4. ขอให้ทบทวนและปรับปรุงต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) เพื่อลดหรือยกเลิกเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าที่ระบุว่า “ไม่มีการผลิตก็ต้องจ่าย (take-or-pay)” ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนเกินสมควร จนสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน

และ 5. เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป) และใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานกลับเข้าสู่ระบบ

อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยถึงสาเหตุของราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจนสร้างภาระกับประชาชนว่า การให้เอกชนมาร่วมผลิตไฟและขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) แต่ขณะนี้มีปริมาณการสำรองไฟที่ล้นเกินไปถึงประมาณร้อยละ 50 เมื่อนำมาหักลบตามการสำรองไฟตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น คือ ร้อยละ 15 ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการสำรองไฟเกินไปเกือบร้อยละ 40 เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่า Ft พุ่งสูงขึ้น และอีกสาเหตุ คือ การใช้ก๊าซของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีสัดส่วนและมีโอกาสได้ใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าประชาชนทั่ว ๆ ไป โดยอิงราคาในประเทศซึ่งมีราคาถูก ขณะที่ประชาชนกลับได้ใช้ก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาในราคาแพง จึงทำให้ค่า Ft ราคาสูงขึ้น

นอกจากนี้การมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) จำนวนมาก และขณะนี้ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นก็ยังได้รับเงินค่าไฟฟ้าผ่าน “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” (ค่า AP) ซึ่งเกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไข “ไม่ซื้อ ไม่ใช้ไฟฟ้า ประชาชนก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) นั้นทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายฯ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนเกินสมควรและไม่สอดคล้องกับพัฒนาการพลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน รวมถึงการที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพเพราะกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบข้างต้น และมีการถ่ายกำลังการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPPs) ที่กว่าร้อยละ 66 ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แพงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

อีกทั้ง กิจการจัดหาก๊าซธรรมชาติและกิจการโรงแยกก๊าซโดยส่วนใหญ่ยังมีการดำเนินการโดยบริษัท ปตท. และบริษัทในเครือ ซึ่งเห็นว่าปัญหานี้นับเป็นการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่ไม่เป็นธรรมและยังขาดความร่วมรับผิดชอบของหน่วยงานจัดหาก๊าซธรรมชาติหลักอีกด้วย มีการบริหารจัดการเรื่องการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่อาจผิดพลาด จนทำให้ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสูงเกินควร ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง คือ การเอื้อประโยชน์ให้ทุนเอกชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น โรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ผ่าน EIA แทนที่จะยกเลิกและให้มีการประกวดราคาแข่งขันกันใหม่แต่กลับให้ย้ายสถานที่ก่อสร้าง และยังเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าให้อีก หรือโรงไฟฟ้า 5,000 MW ที่ จ.ระยอง ปล่อยให้มีการรับซื้อไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่ผิดเงื่อนไขหลายข้อใน TOR นอกจากนี้ยังทำให้รัฐต้องเสียเงินเพื่อก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าให้อีก 6,000 ล้านบาท

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน